วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

"เหรียญทอง"ระดับเขตกับระดับภาค มาตรฐานเดียวกันหรือไม่? งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน 67

ผมรู้สึกงงๆ กับการตัดสินการแข่งขันศิลปหัตกรรมนักเรียนครั้งที่ 67 โดยเฉพาะเรื่องเหรียญทอง เงิน และทองแดง 



การจัดแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนประจำแต่ละปีการศึกษา ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ที่จะได้มองเห็นถึงผลสัมฤทธิ์จากการจัดการเรียนการสอนของครูและสิ่งที่นักเรียนได้รับ ซึ่งโรงเรียนที่ส่งเข้าแข่งขันในแต่ละรายการต้องผ่านการแข่งขันตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา คัดเลือกไปเป็นตัวแทนแข่งขันต่อระดับภาค และสุดท้ายจึงค่อยเป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับชาติต่อไป  

แต่ผมก็ยังรู้สึกสงสัยเรื่อง "เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง" ที่แต่ละโรงเรียนได้รับ มันสามารถวัดเป็นเกณฑ์มาตรฐานและเชื่อถือได้หรือไม่ ผมขอยกกรณีตัวอย่างเฉพาะเรื่อง "การแข่งขันการประกวดแปรรูปอาหาร ระดับ ม.1-ม.3"  ซึ่งเผอิญภรรยาผมเป็นครูผู้ฝึกสอนอยู่ด้วย ลองอ่านดูนะครับ

เกณฑ์การตัดสินว่าทีมไหนจะได้เหรียญอะไร
ผมลองศึกษาเกณฑ์การตัดสินเรื่องเหรียญดู ซึ่งเกือบเหมือนกันในทุกรายการการแข่งขัน สพฐ.กำหนดเกณฑ์การตัดสิน จากการให้คะแนนของคณะกรรมการในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับเขตพื้นที่ ระดับภาค ดังนี้ 
  • หากได้คะแนน ร้อยละ 80-100 จะได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง    
  • หากได้คะแนน ร้อยละ 70-79 จะได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน
  • หากได้คะแนน ร้อยละ 60-69 จะได้รับรางวัลระดับเหรียญทองแดง
  • หากได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 จะได้รับเกียรติบัตร เว้นแต่กรรมการจะเห็นเป็นอื่น
และโรงเรียนที่จะเป็นตัวแทนเขตพื้นที่เข้าแข่งขันระดับภาคได้ ต้องได้เหรียญทอง ลำดับที่ 1 ซึ่งมีคะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป 


จากเหรียญทอง ลดเหลือ เหรียญทองแดง
รร.ดรุณาราชบุรี แข่งขันประกวดการแปรรูปอาหารระดับ ม.1-ม.3 ชนะเลิศในระดับเขตพื้นที่ฯ ได้คะแนน 86.55 อยู่ในเกณฑ์ "เหรียญทอง"  แต่พอไปแข่งขันระดับภาคกลางและภาคตะวันออก ได้ลำดับที่ 15 (จาก 47 โรงเรียน) ได้คะแนน ุ64.33 อยู่ในเกณฑ์  "เหรียญทองแดง"  หากดูจากผลคะแนนแล้ว แสดงให้เห็นว่าทีม  รร.ดรุณาราชบุรี  นี้มีมาตรฐานลดลงใช่หรือไหม? 

และใน 47 โรงเรียนที่ร่วมแข่งขันครั้งนี้ (ซึ่งแน่นอน ต้องได้เหรียญทองมาก่อนจากระดับเขตพื้นที่ทั้งสิ้น) แต่พอมาเข้าร่วมการแข่งขันในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อ 4-6 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ มีดังนี้
  • ได้คะแนนระดับเหรียญทอง จำนวน   4 โรงเรียน
  • ได้คะแนนระดับเหรียญเงิน จำนวน 6 โรงเรียน
  • ได้คะแนนระดับเหรียญทองแดง จำนวน 8 โรงเรียน
  • และได้ระดับคะแนน ต่ำกว่าร้อยละ 60 จำนวน 29 โรงเรียน
ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ลองคิดดูนะครับ โรงเรียนทั้ง 47 โรงเรียนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันระดับภาคได้นั้น ต้องได้คะแนนในระดับเขตพื้นที่มาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 (เหรียญทอง) แต่พอมาแข่งขันระดับภาค  กลับมีแค่ 4 โรงเรียนเท่านั้นที่ได้เหรียญทอง และอีก 29 โรงเรียน ไม่ได้เหรียญเลยด้วยซ้ำไป 

ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นถึง "ความไม่มาตรฐานของกรรมการผู้ตัดสิน" ใช่หรือไหม?

ผลการแข่งขันกับเกณฑ์การได้เหรียญต้องแยกออกจากกัน
การแข่งขันกีฬาทั่วไป เช่น การวิ่งแข่ง การว่ายน้ำ ฯลฯ มีสถิติที่วัดได้ชัดเจน ได้แก่ เวลาและการเรียงลำดับเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1,2 และ 3  นักกีฬาอาจได้เหรียญทองระดับจังหวัด แต่พอไปแข่งขันระดับภาค อาจแพ้จังหวัดอื่น ได้แค่เหรียญทองแดง ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ เพราะมีข้อเท็จจริงที่สามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม 

แต่การแข่งขันศิลปหัตถรรมหลายรายการ ไม่สามารถวัดออกมาเป็นสถิติที่ชัดเจนได้ ส่วนใหญ่เป็นนามธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการตัดสินในแต่ระดับและแต่ละรายการ  รวมถึงความมีประสบการณ์และทัศนคติของกรรรมการผู้ตัดสินรายการนั้นๆ ด้วย บางคนกดคะแนนหรือบางคนก็ปล่อยคะแนนมากเกินไป  ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสิ้น

สพฐ. ควรแยกระบบการตัดสิน เรื่อง "ผลการแข่งขัน" กับ "เกณฑ์ได้เหรียญรางวัล"  ออกจากกันอย่านำไปผูกกัน เกณฑ์การได้เหรียญรางวัล คือ เกณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ อาจไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขก็ได้ มีแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน  แต่หากนำไปผูกกับการให้คะแนนของคณะกรรมการแต่ละท่าน แต่ละระดับ แต่ละวาระแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนได้อย่างที่เห็น  เหมือนสินค้าชนิดหนึ่งที่อาจผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แต่ไม่ได้จัดลำดับว่าสินค้าตัวนี้ ดีเป็นที่ 1 ที่  2 แล้วแต่ผู้ใช้จะเลือกซื้อมากกว่า  

แจ้งผลการแข่งขันแต่ละโรงเรียนเป็นการส่วนตัวได้ก็จะดี
ปัจจุบันการประกาศผลการแข่งขันแต่ละรายการจะประกาศในภาพรวมทุกโรงเรียน ได้แก่ คะแนนรวมที่ได้ ระดับเหรียญที่ได้ และลำดับผลการตัดสิน  แต่คะแนนที่กรรมการให้แต่ละหัวข้อย่อย โรงเรียนที่ส่งเข้าแข่งขัน ไม่สามารถทราบได้ว่า  หัวข้อใดที่ได้คะแนนมากหรือได้คะแนนน้อย  ซึ่ง สพฐ.น่าจะสามารถแจ้งเป็นการส่วนตัวไปยังแต่ละโรงเรียนได้ เพื่อครูจะได้พัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นในการแข่งขันครั้งต่อไป  อย่างเช่น  การแข่งขันประกวดการแปรรูปอาหาร จะมีเกณฑ์ให้คะแนน ดังนี้
  • กระบวนการแปรรูป 20 คะแนน
  • รายงานการดำเนินงาน 40 คะแนน แยกเป็น
    • การวิเคราะห์วัตถุดิบ  10 คะแนน
    • การวางแผน 10 คะแนน
    • การดำเนินงาน 10 คะแนน
    • สรุปและรายงานผล 10 คะแนน
  • ผลสำเร็จของการแปรรูป 30 คะแนน
    • รสชาติเหมาะสมกับประเภทของอาหาร  10 คะแนน
    • ภาพรวมของลักษณะภายนอก เช่น สี กลิ่น ภาชนะบรรจุ 5 คะแนน
    • ภาพรวมของคุณภาพอาหาร เช่น คุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาด 5 คะแนน
    • นำสู่การประกอบอาชีพ  10 คะแนน
  • การนำเสนอและสาธิต 10 คะแนน
ปัจจุบัน ทีม รร.ดรุณาราชบุรี ทราบเพียงว่าได้คะแนน 64.33 แต่ไม่ทราบว่า  ในแต่ละหัวข้อย่อยได้คะแนนเท่าใด ข้อไหนสูง ข้อไหนต่ำ  แต่ถ้าหากทราบได้ ก็จะทำครูสามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาในครั้งต่อไป  (ผมไม่ทราบว่า เว็บไซต์การแข่งขันฯ เปิดโอกาสให้โรงเรียนและครูแต่ละท่าน เข้าไปค้นหาผลงานของตนเอง ได้หรือไม่)    



การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผมถามภรรยาว่า ได้มีโอกาสไปดูโรงเรียนที่เข้าแข่งขันฯ อีก 46 โรงเรียนหรือไม่ ว่าเขาแปรรูปอาหารชนิดใดบ้าง ภรรยาตอบว่า อยากดูเหมือนกัน แต่ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ดู  ผมคิดในใจว่า  

"น่าเสียดาย หลังจากการแข่งขันเสร็จแล้ว คณะกรรมการฯ น่าจะเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ทั้งหมด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งมันจะเกิดการพัฒนาในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น อย่างน้อย ครูและนักเรียนแต่ละโรงเรียนก็น่าจะได้ความคิดกลับมาพัฒนาอีกตั้ง  46 ความคิด แทนที่จะมีแค่ความคิดของตนเองเพียงความคิดเดียว"

ที่ผมเขียนมาข้างต้นนี้เป็นเพียงภาพเล็กๆ ที่ผมเห็น แต่อาจไม่ใช่ภาพรวมของการแข่งขันฯ เสียทั้งหมด หากมีอะไรที่ผมเข้าใจไม่ถูกต้องแล้ว ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

*************************
ชาติชยา ศึกษิต : 8 ม.ค.2561

ไม่มีความคิดเห็น: