วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ทำความเข้าใจเรื่อง "โดรน" ไม่ต้องขึ้นทะเบียนก็บินได้

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ซื้อ "โดรน" ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอในมุมสูง เพื่อประกอบการผลิตวิดีโอรายการต่างๆ ของ "สถาบันราชบุรีศึกษา" ซึ่งเป็นสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร ทำหน้าที่ในจัดการความรู้ของราชบุรี เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไป   แต่ตอนนี้ รู้สึกว่าไปที่ไหน ก็มีแต่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายสั่งห้ามไม่ให้บิน โดยไม่มีเหตุผลสมควรว่าเพราะอะไร 
จึงก่อให้เกิดคำถามขึ้นในใจของผมมากมายหลายเรื่อง  



ใครต้องขึ้นทะเบียนบ้าง
สรุปสาระสำคัญของ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศที่ไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 ที่นักบินโดรนทั้งหลายควรทราบ มีดังนี้

โดรน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. ประเภทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา แบ่งออกเป็น 2 ขนาด คือ
    1. มีน้ำหนัก ไม่เกิน 2 กิโลกรัม
    2. มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม 
  2. ประเภทที่มีวัตถุประสงค์อื่นนอกจากข้อ 1 ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ดังนี้
    1. เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือรายงานการจราจร (สื่อมวลชน)
    2. เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์
    3. เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน
    4. เพื่อการอื่นๆ
โดรนที่ น.น.ไม่เกิน 2 ก.ก. มีวัตถุประสงค์เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก บันเทิง และการกีฬา สามารถบินได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ผู้ควบคุมการบินต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินที่กำหนด  

โดรนที่มี น.น.เกินกว่า 2 ก.ก.แต่ไม่เกิน 25 ก.ก.   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก บันเทิง และการกีฬา สามารถบินได้โดยต้องขึ้นทะเบียน ผู้ควบคุมการบินต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินที่กำหนด  

หากใครใช้โดรนไม่ว่าจะมี น.น.เท่าใดก็ตาม  (แต่ไม่เกิน 25 กก.) แต่มีวัตุประสงค์เพื่อรายงานเหตุการณ์ การจราจร ถ่ายภาพภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์  วิจัยและพัฒนาอากาศยาน และเพื่อการอื่นๆ ต้องขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น โดยแยกดังนี้
  1. เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือการจราจร (สื่อมวลชน) ผู้ขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคล
  2. เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนสามารถเป็นบุคคลธรรมดา (อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี)  หรือนิติบุคคล ก็ได้
  3. เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน ผู้ขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคล
  4. เพื่อการอื่นๆ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนสามารถเป็นบุคคลธรรมดา (อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี) หรือนิติบุคคล ก็ได้
สำหรับเงื่อนไขการบินที่กำหนด ก็คือข้อปฏิบัติก่อนทำการบิน ระหว่างทำการบิน รวมทั้งข้อห้ามต่างๆ ซึ่งผู้ที่บินโดรน ควรศึกษาให้ดี 

ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ก็บินได้
ผมอายุ 56 ปี ใช้โดรน ยี่ห้อ DJI รุ่น Phantom3 Standard น้ำหนักรวมแบตเตอรี่ 1.216 ก.ก. บินเพื่อการบันเทิง เช่น เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ อย่างนี้ ผมก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินที่กำหนด  และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทำการบินเสียก่อน เช่น
  • หากจะถ่ายภาพมุมสูงในอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าอุทยานฯ เสียก่อน
  • หากจะถ่ายภาพมุมสูงของวัดวาราอาราม ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสฯ เสียก่อน
  • ฯลฯ
แต่หากจะบินถ่ายภาพความสวยงามของบ้านเมือง ตึกรามบ้านช่อง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ ต้องไม่บินเหนือสิ่งเหล่านี้  เพราะเป็นข้อห้าม (หากบินถ่ายภาพจากด้านข้าง ผมว่าน่าจะได้ครับ แต่ต้องห่างมากกว่า 30 เมตร และต้องไม่สูงเกิน 90 เมตร) 

บินงานกิจกรรมได้หรือไม่
กิจกรรมบางกิจกรรม สมควรที่จะมีการบันทึกภาพมุมสูงไว้ เช่น การเดิน-วิ่ง การขี่จักรยาน แข่งรถ แข่งเรือ ฯลฯ   ผมว่าสามารถบินได้นะครับ เพราะเป็นเรื่องของการกีฬา แต่ต้องขอนุญาตจากผู้จัดกิจกรรมเสียก่อน  ส่วนงานบวช งานแต่งงาน หรืองานประเพณีต่างๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เจ้าภาพคงให้บินอยู่แล้ว  โดยผู้ที่มีโดรน น.น.ไม่เกิน 2 ก.ก. สามารถบินได้เลย (ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน)  แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินและข้อห้ามที่กำหนดไว้ในกฏหมาย     
   
ประกันภัยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนต่างๆ ผมพอที่จะทำได้อยู่ครับ แต่มีอยู่ข้อหนึ่งคือ กรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งคุ้มครองความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลที่สาม วงเงินประกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อครั้ง นี่แหละที่ทำให้ผมมีปัญหา  

รู้สึกแย่จัง ผมไม่ได้ซื้อโดรนเพื่อมาทำธุรกิจ เงินซื้อโดรนก็เงินของผมเอง ไหนจะต้องมาจ่ายค่าเบี้ยประกันอีกอย่างน้อยก็หลายพันบาทต่อปี แล้วก็ไม่รู้ว่า บริษัทประกันภัยใกล้บ้านเขาจะยอมทำประกันให้หรือปล่าว (เห็นเขาว่าต้องทำประกันกับบริษัทฯ ตามที่ทางราชการกำหนดไว้เท่านั้น ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน)



ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนวัตถุประสงค์การบินโดรน จากการถ่ายภาพประกอบการผลิตรายการเป็นการบินเพื่อการบันเทิงแทน เพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพราะโดรนของผม น.น.ไม่เกิน 2 ก.ก.

ที่ผมเขียนมายืดยาวนี้ มุ่งประสงค์เพื่อให้บรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฏหมายได้ทราบว่า  การบินโดรนนั้น สามารถบินได้ เจตนารมย์ของกฏหมายไม่ได้ริดรอนสิทธิของการบินโดรน ไม่ใช่เอะอะก็สั่ง "ห้ามบิน" อย่างเดียว โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร     
  

***************************
จุฑาคเชน 9 พ.ย.2560

อ่านเพิ่มเติม จิตอาสา..รับบินโดรนเพื่อประโยชน์ทางสังคม

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความผิดของหนูหรือ ที่ไม่ได้เป็นครู

ผมอ่านเรื่องราวของผู้หญิง 2 คนที่ต้องฝันสลายจากการเป็นครู เพียงเพราะมติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ เพียงไม่กี่คน ที่อ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักการใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ แต่ท่านคงไม่ทราบว่ามติของท่านได้ทำลายจิตใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ และครอบครัวของเธอถึง 2 คน ซึ่งเธอไม่ได้ผิดอะไรเลย นอกจากนั้นยังเกิดคำถามแก่เด็กๆ นักเรียนของ รร.อุ้มผางวิทยาคม อีกด้วยว่า "จะเอาครูของหนูไปไหน"  และซ้ำร้ายยังทำให้มองเห็นถึงระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่ห่วยแตก ซึ่งทำงานไม่ประสานสอดคล้องกัน 

 น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี (ครูวัลย์) และ น.ส.วนาลี ทุนมาก(ครูแอน) 

เรื่องราวดังกล่าวที่เกิดขึ้น ผมพอสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้      

ขอเปลี่ยนบรรรจุวิชาเอกสังคมศึกษาแทน 
เดิม รร.อุ้มผางวิทยาคม อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้ขอเปิดบรรจุครูผู้ช่วยวิชาเอกคณิตศาสตร์ จำนวน 1 ตำแหน่ง แต่ไม่มีใครมารายงานตัวและบัญชีรายชื่อวิชาเอกคณิตศาสตร์หมดแล้ว รร.อุ้มผางวิทยาคม จึงขอบรรจุครูผู้ช่วยวิชาเอกสังคมศึกษาแทน ไป 2 คน เพราะขาดแคลนเช่นกัน 

ไปตามคำสั่ง ได้เป็นครูสมใจ
น.ส.วนาลี ทุนมาก(ครูแอน) ชาว จ.สุโขทัย และ น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี (ครูวัลย์) ชาว จ.เลย ซึ่งสอบติดครูผู้ช่วยอันดับที่ 66 และ 67 ตามลำดับของบัญชีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) จึงได้รับการเรียกบรรจุและแต่งตั้งลงโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก สาขาเอกสังคมศึกษา  
บัญชีบรรจุ และคำสั่งเรียกตัว

โดยทั้งคู่ได้ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเหลือเวลาอีก 6 วัน ก่อนที่บัญชีจะหมดอายุในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560  


สอน 5 เดือน ฟรี
ครูทั้งสอง ได้เริ่มสอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2560 เป็นต้นมา รวม 5 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด โดยทั้งสองเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติตามขั้นตอนระเบียบของราชการที่มักเกิดความล่าช้า



กศจ.ตาก มีมติไม่อนุมัติ
ย่างเข้าสู่เดือนที่ 6  ในวันที่ 24 ต.ค.2560  สพม.เขต 38 มีหนังสือถึง รร.อุ้มผางวิทยาคม ระบุว่า 
"คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตาก (กศจ.ตาก) มีมติไม่อนุมัติการขอปรับเปลี่ยนวิชาเอกและขอเพิ่มเติมตำแหน่งว่างของโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม และไม่อนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา จากบัญชี สพม. เขต 38 โดยอ้างเกิน 2 ปี" 

ฝันสลาย - พ้นจากครูผู้ช่วย
จากมติของ กศจ.ตาก ทำให้ครูแอน และครูวัลย์ ต้องพ้นจากครูผู้ช่วยไปในบัดดล 

อาชีพครูเป็นอาชีพที่หนูใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อสอบติดได้รับการบรรจุ ทั้งหนูและพ่อแม่พากันดีใจและภาคภูมิใจมาก แม้ต้องขึ้นดอยไปสอนที่ห่างไกลก็เต็มใจและมีความสุข แต่สุดท้ายความฝันทุกอย่างก็ต้องสลายไป หลังมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้หนูเป็นครูสอนได้เพียงแค่ 5 เดือนกว่าๆ โดยไม่ได้รับเงินเดือนแม้สักบาทเดียว .....”

เสียงของครูแอน ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ เอกสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดี

"ถึงวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เมื่อคิดถึงภาพเด็กๆ ที่อุ้มผางวิทยาคมวิ่งตามรถตอนหนูออกมา พวกเขาถามว่าครูจะไปไหน ทำไมไม่กลับมา”




นายบุญรักษ์ รอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"รร.อุ้มผางวิทยาคม ขาดแคลนครูทุกสาขา เฉพาะวิชาสังคมศึกษาขาดแคลน ถึง 7 คน  เมื่อมีอัตราว่าง ประกอบกับสาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ ไม่มีผู้สอบมารายงานตัว ทางโรงเรียนจึงขอครูวิชาเอกสังคมศึกษาไปทั้ง 2 อัตรา ทั้งนี้ บัญชีวิชาเอกคณิตศาสตร์หมดแล้ว ไม่สามารถเรียกรายชื่อสำรองขึ้นมาได้อีก จึงใช้วิชาเอกสังคมศึกษาแทน ..." 
(ที่มา มติชนออนไล์ 5 พ.ย.2560 https://www.matichon.co.th/news/721535)

ใครผิด
เรื่องนี้เริ่มต้นจาก รร.อุ้มผางวิทยาคม เสนอขออนุมัติบรรจุครูเอกสังคมศึกษา (ซึ่งขาดแคลนเช่นกัน) แทนครูเอกคณิตศาสตร์ที่ไม่มีผู้มารายงานตัวและไม่มีบัญชีรายชื่อแล้ว  นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมคือ "ต้องการครูให้เด็กนักเรียน"  

จากนั้นทาง สพม.38 ก็มีหนังสือราชการไปถึงครูแอนและครูวัลย์ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ครูที่ รร.อุ้มผางวิทยาคม ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.2560 ซึ่งการอนุมัติเป็นไปตามมติของ กศจ.ตาก และ กศจ.สุโขทัย ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีเช่นกันคือ "หาครูให้เด็กนักเรียน"

แต่สิ่งที่มันดูทะแม่งๆ ก็คือ อีก  เดือนต่อมา ทาง กศจ.ตาก กลับมีมติไม่อนุมัติให้บรรจุครูแอนและครูวัลย์ ฯ  เรื่องนี้แหละครับที่มันน่าสงสัยว่า ทำไม? จึงมีการกลับมติและเกิดความล่าช้าขนาดนี้  ทำเช่นนี้เท่ากับ "ไล่ครูไม่ให้สอนเด็กนักเรียน"   

นี่คือการแสดงให้เห็นถึงความห่วยแตกของระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่ทำงานล่าช้าและไม่ประสานสอดคล้องกัน หรืออาจเป็นความบกพร่องของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตาก  ที่ไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนที่จะมีมติเช่นนั้น

ถึงเวลาแล้วที่ กศจ.ตาก ต้องทบทวนมติใหม่ โดยขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ  ผมมั่นใจว่า "ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้" หากท่านไม่เถรตรงหรือทิฐิมากจนเกินไป

*****************************           
ชาติชยา ศึกษิต 7 พ.ย.2560

วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หลานเอ๋ย..ยายจะทำยังไงดี ยายคงได้แต่มอง

ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ต.ค.2560 เป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยทุกคนเฝ้ารอคอยที่จะได้มีโอกาสถวายดอกไม้จันทน์เป็นครั้งสุดท้าย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9  ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย 

เปิดโอกาสให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกสถานที่ ร่วมถวายดอกไม้จันทน์
พระเมรุมาศองค์จริงที่ใช้ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ อยู่ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ และยังมีพระเมรุมาศจำลองอยู่ในเขตกรุงเทพฯ อีก 7 แห่ง ตามจังหวัดต่างๆ อีก 76 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในแต่ละอำเภอและแหล่งชุมชนที่สำคัญอีกจำนวนมาก รวมถึงในต่างประเทศอีกหลายประเทศ  

สรุปได้ว่า พสกนิกรผู้จงรักภักดีไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด สามารถร่วมถวายดอกไม้จันทน์ได้อย่างสะดวกใกล้บ้านและสถานที่ทำงานของตัวเอง  ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปยังมณฑลพิธีที่กรุงเทพฯ  

ที่มา คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

กำหนดการเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์
สำหรับประชาชนสามารถเริ่มถวายดอกไม้จันทน์ได้ทุกสถานที่ ทั้งพระเมรุมาศหลัก พระเมรุมาศจำลอง หรือซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ต่างๆ เริ่มตั้งแต่เวลา 09:00 น.เป็นต้นไปถึง 16:30 น. ส่วนเวลา 16:30-18:30 น. หยุดถวายดอกไม้จันทน์เพื่อเข้าสู่พระราชพิธีฯ ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดก็ชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มาจากส่วนกลาง และจะเริ่มถวายดอกไม้จันทน์อีกครั้ง หลัง 18:30 น.เป็นต้นไป จนถึง 22:00 น.


ที่มา คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

การแต่งกาย
เป็นไปตามภาพด้านบน การแต่งกายนี้แหละกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่หลายคนเป็นกังวลอาจไม่สามารถเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ได้ เพราะไม่มีร้องเท้าสุภาพหุ้มส้นสีดำ อีกเสื้อก็ต้องดำด้วย เสื้อขาวก็ใช้ไม่ได้  

ผมได้คุยกับยายท่านหนึ่ง หลังที่แกทราบข่าวเรื่องการแต่งกายแล้ว แกบอกกับผมว่า

"หลานเอ๋ย..ยายจะทำยังไงดี ยายคงได้มอง" 

เพราะเกิดมา ยายแกไม่เคยใส่รองเท้าหุ้มส้นเลย ที่แกมีใส่ตอนนี้ ก็แค่รองเท้าสานสีดำ  ที่หลานๆ ซื้อให้ใส่  ยิ่งกระโปรงแล้ว ในชีวิตแกไม่เคยใส่เลย  แต่ถ้าเป็นผ้าถุงหรือผ้าซิ่นสีดำสวยๆ แกยังพอมีใส่  

ผมตอบยายไปว่า คงไม่ใช่หรอกครับ การแต่งกายที่ว่านั้นคงใช้เฉพาะในพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพิธีระดับชาติ  ส่วนตามต่างจังหวัด ต่างอำเภอ อย่างบ้านเรา ที่มีทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน  ชาวเขา ชาวดอย ชาวมอญ ชาวกระเหรี่ยง ชาวลาว และชาวไทยพื้นถิ่นต่างๆ  ทางราชการคงพออนุโลมได้หรอกครับ  เช่น แต่งกายพื้นถิ่นไว้ทุกข์ตามชาติพันธ์ของตนเอง เป็นต้น แต่ขอให้สุภาพก็แล้วกัน  ยายไม่ต้องห่วง  เดี๋ยวทางจังหวัดคงปรับเรื่องการแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละท้องถิ่น อีกครั้งแหละครับ 

"ยาย..ต้องได้ถวายดอกไม้จันทน์แด่พระองค์ท่าน ด้วยมือของยาย อย่างแน่นอน.."

ที่มา คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ผมนึกในใจว่า...
หากต้องใช้รองเท้าหุ้มส้นจริงๆ ผมคงต้องหาซื้อรองเท้าให้ยายแกใส่สักคู่แน่เลยครับ แล้วฝึกให้แกหัดเดิน 
แต่กระโปงดำนี่ซิ กลัวแกจะไม่ยอมนุ่ง    

*****************************
ชาติชาย คเชนชล 17 ต.ค.2560

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

นิสิต "สองแผ่นดิน"

พระบรมฉายาลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์
เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อ วันที่ 17-18 กรกฏาคม 2541

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.2560)  ผมมีโอกาสได้ไป "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อีกครั้ง ซึ่งจำได้ว่า ครั้งสุดท้ายไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของบุตรชาย แต่วันนี้ เป็นของบุตรสาว ทั้งสองคนล้วนจบจากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ ถือเป็นบุญของพวกเขา และยังเป็นความภาคภูมิใจแก่ พ่อ แม่ ญาติพี่น้องและวงศ์ตระกูล อีกด้วย  

วันรับปริญญาไม่ใช่ "ตอนจบ"
ในคราวรับปริญญาของบุตรชาย ผมเคยเขียนบทความเพื่อเตือนสติลูกชายในครั้งนั้นว่า ให้มีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา หาเลี้ยงชีวิตของตนเองให้ได้ เพราะชีวิตหลังรับปริญญา คือ การเริ่มต้นของการใช้ชีวิตที่แท้จริงบนโลกใบนี้  อย่าให้ใครดูถูกเราได้ว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

นิสิต "สองแผ่นดิน"
การรับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ บรรยากาศเรียบง่าย ไม่มีเสียงร้องเพลง เสียงเล่นกิจกรรม เสียงแสดงความยินดีจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ดังเซ็งแซ่เหมือนอย่างเคย ช่อดอกไม้และของขวัญที่ระลึกส่วนใหญ่ใช้โทนสีขาวดำ เทา หรือสีเรียบๆ ไม่ฉูดฉาด เนื่องจากกำลังอยู่ในห้วงไว้ทุกข์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จสวรรคตจากพวกเราไปเมื่อปีที่แล้ว และอีกไม่กี่วันก็จะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีนี้  จึงถือได้ว่าเป็น "นิสิตสองแผ่นดิน" เพราะเรียนในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 และรับพระราชทานปริญญาบัตรในแผ่นดินรัชกาลที่ 10  




ทุกคนกำลังเฝ้าดู
ผมขอชื่นชมที่ คณะกรรมการบัณฑิตฯ ในปีนี้  ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครัั้งสุดท้าย ที่ทรงเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง เมื่อปี พ.ศ.2541 พร้อมนำพระปฐมบรมราโชวาทฯ ที่เคยพระราชทานแก่บัณทิตของจุฬาฯ เมื่อ วันที่ 21 พ.ค.2493 มาจัดพิมพ์ไว้ด้านหลังของภาพด้วย ความว่า

".....  แต่ขอให้นึกเสมอว่า เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว ยังมีคนจำนวนมากที่เอาใจใส่เฝ้าดู การกระทำของท่านอยู่ต่อไป ใครทำดีก็ได้รับคำชมเชยและสรรเสริญ ใครไม่ทำดีเขาก็จะพากันติ และพลอยติชมถึงสถานศึกษาของท่านด้วย 

ชื่อมหาวิทยาลัยของท่านคือ "จุฬาลงกรณ์" จะติดตัวท่านไปด้วยเสมอไม่ว่าจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่ว ฉะนั้นทุกๆ ครั้งที่ท่านกระทำสิ่งใดลงไป จงคิดแล้วคิดอีก ทบทวนดูทั้งทางได้ทางเสียให้แน่ชัดเสียก่อน

"จุฬาลงกรณ์" หาได้เป็นแต่เพียงชื่อของมหาวิทยาลัยนี้เท่านั้นไม่ ยังเป็นนามของผู้พระราชทานกำเนิดของสถานที่แห่งนี้ด้วย ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้...." 

ผมอ่านแล้ว รู้สึกปลื้มปิติแทนลูกชาย ลูกสาว และผู้ที่เคยเป็นนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน  ขอให้ลูกๆ ทั้งสองของพ่อ จงจดจำ "พระปฐมบรมราโชวาทฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9"  ที่ทรงให้ไว้แก่บัณฑิตเอาไว้ให้แม่น อย่าได้ลืมเลือนเป็นอันขาด 




เพราะชื่อ "จุฬาลงกรณ์ "จะติดตัวลูกไปเสมอ
จะทำการสิ่งใด จงคิดไตร่ตรองให้ดี 

********************************
ขอแสดงความยินดีกับลูกสาวของพ่อ "จุฑามาศ จันทรวงศ์"
จาก พ่อของลูก พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์



วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ก็ "ว่างงาน" ใช่ไหม ปลาก็กำลังจะได้กินฟรี หัดตอบแทนสังคมบ้างก็ดี

ภาพจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สอนให้ลูกจับปลา ไม่ใช่หาปลาให้ลูกกิน
คำกล่าวนี้ ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายความใดๆ ทุกท่านก็คงเข้าใจ  มีบทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวที่อดีตพระราชาของเราได้เคยทรงทำให้เราดู 

แต่ผู้ปกครองของประเทศไทย ที่ชอบอ้างว่าเดินทางตามรอยพ่อ กลับไม่เดินจริง  ยังชอบ "หาปลาให้ลูกกิน" เสมอ เพราะมันเป็นวิธีการที่เร็วและง่ายที่จะทำให้คนชื่นชมยกย่อง ที่เรียกว่าเพื่อให้ "ประชานิยม" นั่นเอง 


ผมไม่เห็นด้วยกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ใครจะว่าผมไม่มีจิตคิดเมตตากรุณา ผมก็ยอม เพราะผมเห็นว่า นโยบายที่รัฐจะมอบสวัสดิการให้กับคนมีรายได้น้อย (คนจน) มันไม่ใช่นโยบายที่ยั่งยืน แต่มันจะกลับกลายเป็นยาพิษทำลายคนเหล่านั้นแทน รัฐควรพยามยามสร้างให้เขาทำมาหากินเป็น ไม่ใช่การแบมือขอความช่วยเหลืออยู่ร่ำไป 

ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนผมเสียภาษีให้ประเทศชาติเดือนละ 8,000 บาทเศษ แต่ผมก็ต้องการให้ภาษีของผมนำไปพัฒนาด้านสวัสดิการเพื่อคนส่วนรวม หรือเพื่อนำไปใช้ลงทุนในกิจการต่างๆ ของรัฐเพื่อให้ประเทศชาติมีรายได้  "ไม่ใช่นำไปแจกคน 11.4 ล้านคนที่รัฐเรียกว่าเป็น "คนจน" เพื่อใช้ในเรื่องส่วนตัว"   

หากจะให้จริง ก็ควรแลกด้วยสิ่งตอบแทนบ้าง
จนป่านนี้แล้ว คงแก้ไขอะไรไม่ได้ก็คงต้องให้มันเป็นไปตามนั้น คนจำนวน 11.4 ล้านคน กำลังจะได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เดือนละ 200 บาทบ้าง 300 บาทบ้างตามรายได้ที่มีต่อปี แถมยังมีค่าเดินทางรถโดยสารรถเมล์รถไฟอีกเดือนละ 1,500 บาท และลดหย่อนค่าก๊าซหุงต้มอีก 45 บาท/คน/3 เดือน รวมแล้วรัฐต้องใช้เงินแบบให้ฟรีแก่คนจน เฉลี่ยประมาณเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท น่าเสียดายนะครับ รู้ไหมเงินเหล่านี้ ก็คือเงินอัดฉีดให้นายทุนและกิจการของรัฐ ที่รัฐชอบเรียกว่า "ระบบเศรษฐกิจ" นั่นเอง  
  • สินค้ายี่ห้อ A ไม่ว่าจะขายในห้างสรรพสินค้า หรือในร้านธงฟ้าประชารัฐ ก็ล้วนเจ้าของเดียวกัน ซึ่งสินค้ายี่ห้อ A ก็จะขายได้มากขึ้น ไม่มีใครขายของขาดทุนหรอกครับ มีแต่กำไรน้อยกำไรมากเท่านั้น 
  • กิจการรถโดยสาร รถเมล์ และรถไฟก็ล้วนเป็นกิจการของรัฐ ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของสัมปทานและกำลังขาดทุน
  • ก็าซหุงต้ม ก็รู้ๆ อยู่ว่าใครเล่าที่เป็นเจ้าของผูกขาด 
เห็นไหมว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นกตั้งหลายตัว"  

"ว่างงาน" ก็หัดตอบแทนสังคมบ้าง ก็ได้   
ผมข้อเสนอแนะว่า คนจน 11.4 ล้านคน ที่กำลังจะได้รับ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งรัฐต้องเจียดจ่ายจากเงินภาษีให้ท่านเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท จากคุณสมบัติแล้ว ท่านมีอายุมากกว่า 18 ปี และท่านเป็น  "ผู้ว่างงาน" ดังนั้น ท่านน่าจะมีจิตสำนึกในการตอบแทนแก่สังคมบ้างก็ดี  เช่น ยามว่างหรือเสาร์-อาทิตย์ ลองไปช่วยงานอาสาสมัครหรือจิตอาสาเพื่อสาธารณะประโยชน์ให้แก่สังคมบ้าง ซึ่งงานอาสามีรอให้ช่วยทำมากมาย หรือไม่ก็ไปช่วยกวาดลานวัด กวาดโรงเรียนบ้างก็ได้ ไม่ใช่นั่งรับเงินโดยไม่ทำอะไรตอบแทนแก่สังคมบ้างเลย    


ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์  การคิดที่จะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพนั้น ผมว่าไม่ยาก เพียงแต่ว่าระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐสร้างขึ้นควรเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสทำมาหากินจริงๆ  ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะนักลงทุนอย่างเดียว ความยุ่งยากความหยุมยิมของกฏหมาย และจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ล้วนไม่เอื้อประโยชน์ให้คนเหล่านี้ทำมาหากินเท่าใดนัก หรือหากคิดทางลบก็คือ คนพวกนี้ เป็นคนจำพวกขี้เกียจทำมาหากิน จึงไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือใดๆ    

รัฐควรมีนโยบายพยายาม "สอนให้เขาจับปลา" ซิครับ 
ดีกว่า "หาปลาให้เขากิน" มากมายนัก      

*******************************
ชาติชาย คเชนชล 25 ก.ย.2560

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

"วันบุรฉัตร" เป็นวันที่หน่วยงานทั้งหลายต้องคิดทบทวน


พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระราชโอรส องค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสิ้นพระชนม์ในวันที่ 14 กันยายน 2479 ขณะพระชนมายุเพียง 55 ปี วันนี้ทางราชการจึงกำหนดให้เป็น "วันบุรฉัตร" ผมขอสรุปประวัติของพระองค์ฯ พอสังเขปเพื่อทราบดังนี้ 
  • พระชนมายุ 20 ปี เป็นร้อยตรี เหล่าทหารช่าง หลังจากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ
  • พระชนมายุ 23 ปี กลับมาเป็นพันตรีเหล่าทหารช่าง
  • พระชนมายุ 27 ปี ดำรงตำแหน่งจเรทหารช่าง (พระองค์แรก)
  • พระชนมายุ 36 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น "ผู้บัญชาการรถไฟ" อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหาร พระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหม่ เข้ามาใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า  " พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่ "  
  • พระชนมายุ 41 ปี ทรงขอพระบรมราชานุญาตในการออกพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ และทางหลวง พุทธศักราช  2465 เพื่อเป็นการวางหลักการบริหารกิจการรถไฟของประเทศให้มีระเบียบยิ่งขึ้น
  • พระชนมายุ 45 ปี ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมและเป็นนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์
  • พระชนมายุ 49 ปี ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้การพัฒนาประเทศ ทรงตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงทดลองขนาดเล็ก และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง ทรงเปิดการกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" และถือว่าเป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้ประเทศสยามมีการส่งเทเลวิชั่น (วิทยุโทรทัศน์) ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475
  • พระชนมายุ 49 ปี ทรงก่อตั้งสโมสรโรตารีแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" 
  • พระชนมายุ 50 ปี  ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 
  • พระชนมายุ 52 ปี ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัว (น่าจะเป็นผลพวงมาจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ของคณะราษฎร)          
  • พระชนมายุ  55 ปี  ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในประเทศสิงค์โปร์
พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากรฯ นอกจากจะทรงรับราชการทหารแล้ว ยังทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณและทรงวางรากฐานในกิจการด้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น การออมสิน การโรงแรม การสหกรณ์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยว การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และการบินทหารบก

(ท่านใดต้องการอ่านพระราชประวัติโดยละเอียด สามารถค้นหาได้จากอินเตอร์เน็ต)



น่าเสียดายเวลาที่เสียไป
นับตั้งแต่วันที่ พระองค์ท่านและครอบครัว ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยและทรงสิ้นพระชนม์ที่ประเทศสิงค์โปร์ ถึงปัจจุบันแล้วเป็นเวลา 81 ปี แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มและวางรากฐานไว้ หลายกิจการไม่ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น ดังเช่น กิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ดังนั้น "วันบุรฉัตร" จึงควรเป็นวันที่หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ต้องหันมาพิจารณาทบทวนดูว่า "สิ่งใดที่ขาดหายไป" จึงทำให้เจตนารมย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5,6 และ 7 ที่ทรงรับสั่งผ่านทางพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรฯ จึงไม่ประสบความสำเร็จ


มีคนกล่าวว่า "ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา" แต่
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ได้แค่นี้"  
คำกล่าวนี้ เห็นท่าจะจริง....           



********************************
ชาติชาย คเชนชล : 14 ก.ย.2560

วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จ่ายค่าตอบแทนผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูทั่วทั้งประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะครูที่เป็นข้าราชการ

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นใบอนุญาตให้สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ตามสาขาที่เรียนมา โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณสมบัติตามที่องค์กรออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำหนดไว้ ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่องค์กรวิชาชีพแต่ล่ะองค์กรกำหนดไว้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพ ได้แก่
  • ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ออกโดย แพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ออกโดย แพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม ออกโดย ทันตแพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ออกโดย สัตวแพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกโดย สภาเภสัชกรรม
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ออกโดย สภาการพยาบาล
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ออกโดย สภาเทคนิคการแพทย์
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ออกโดย สภากายภาพบำบัด
  • ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ออกโดย สภาทนายความ 
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ออกโดย สภาวิศวกร
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ออกโดย สภาสถาปนิก
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ออกโดย คุรุสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ออกโดย สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพ
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขา มีอัตราที่แตกต่างกัน และในแต่ละสาขายังแบ่งค่าตอบแทนอีกเป็นหลายระดับ เช่น  ในทางราชการ กำหนดให้ แพทย์ ได้รับตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 15,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร ตั้งแต่ 1,500 ไปจนถึง 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น  สำหรับภาคเอกชนบางแห่ง  อาจจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขาสูงกว่าทางราชการหลายเท่านัก เช่น อาชีพวิศวกร เป็นต้น 

การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพของแต่ละสาขาอาชีพ จะมีระยะเวลาที่กำหนดไม่เท่ากัน รวมถึงวิธีการวัด ประเมินผล และกระบวนการที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะใช้วัดความสามารถของผู้ที่จะขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้นๆ ตามเทคนิคของตนเอง  


ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครู
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่มีกฏหมายใดๆ รองรับว่าจะได้เท่าไหร่ต่อเดือน แต่ที่พอมองเห็นอยู่ในปัจจุบัน ในทางราชการเขาใช้คำว่า "ค่าวิทยฐานะ"  ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ.2547  ซึ่งระบุตอนหนึ่งไว้ว่า 

วิทยฐานะข้าราชการครูที่มีใบประกอบวิชาชีพครู
  • ครูเชี่ยวชาญพิเศษ   คศ.5  เงินวิทยฐานะ   15,600 บาท/เดือน
  • ครูเชียวชาญ           คศ.4  เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • ครูชำนาญการพิเศษ  คศ.3  เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • ครูเชียวชาญพิเศษ    คศ.2  เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน
วิทยฐานะศึกษานิเทศน์มีใบประกอบวิชาชีพ 
  • ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญพิเศษ     เงินวิทยฐานะ   15,600 บาท/เดือน
  • ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ             เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ   เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ           เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน 
วิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษามีใบประกอบวิชาชีพ
  • ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญพิเศษ       เงินวิทยฐานะ   15,600 บาท/เดือน
  • ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ                เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ     เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • ผู้อำนวยการชำนาญการ               เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน
  • รองผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ            เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ  เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • รองผู้อำนวยการชำนาญการ          เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน
ค่าวิทยฐานะนี้ไม่เกี่ยวกับเงินเดือนของครูแยกออกจากกัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครูนั้นเอง  แต่รัฐจำกัดให้เฉพาะ "ผู้ที่เป็นข้าราชการครูหรือผู้ที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ" เท่านั้น 

ด้วยเงินค่าวิทยะฐานะต่อเดือนจำนวนมากนี้เอง ปัจจุบันจึงทำให้ครูของรัฐต้องวุ่นวายอยู่กับการเลื่อนวิทยฐานะมากกว่าการสอนเด็ก รัฐต้องนั่งคิดหาหลักเกณฑ์ต่างๆ กันใหม่อยู่เรื่อยจนครูรัฐบาลสับสนไปหมด    

ทำไม? ครูคนอื่นจึงไม่มีค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพ
เงินภาษีทั้งหลายที่รัฐเก็บได้ จัดสรรส่วนหนึ่งนำไปจ่ายค่าวิทยฐานะให้ครูและบุลคลากรทางการศึกษาเฉพาะที่เป็นข้าราชการของรัฐจำนวนมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงครูเอกชนหรือครูประเภทอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และมีใบประกอบวิชาชีพครูเหมือนกัน อีกทั้งงบประมาณสำหรับการอบรมและพัฒนาครู ก็จำกัดเฉพาะครูของรัฐอีกต่างหาก ใช้เงินงบประมาณมากมายขนาดนี้แล้ว ครูของรัฐยังถูกกล่าวหาว่า "ไม่มีคุณภาพเสียอีก"  จึงมีคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น?   

ผมไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องรับภาระมาจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพให้กับครูเอกชน หรือครูสังกัดอื่นๆ เพราะมันอาจเป็นภาระมากเกินไป แต่รัฐก็ควรหามาตรการหรือแนวทางการส่งเสริม  

ทำอย่างไร? ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูทั่วทั้งประเทศ ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพเหมือนกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ ครูเอกชน หรือครูที่อยู่ในสังกัดอื่นใดก็ตาม อย่างเช่น
  • ออกกฏหมายหรือระเบียบว่าด้วย "การกำหนดอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทย"  ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ ครูเอกชน หรือครูในสังกัดอื่นๆ
  • เปลี่ยน ค่าวิทยฐานะเดิมของข้าราชการครู ให้เป็น ค่าตอบแทน 
  • เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐมากเกินไป รูัฐอาจกำหนดให้เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแก่ครูในโรงเรียนเอกชนหรือในสังกัดอื่นๆ  ในสัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่ง เช่น รัฐ ร้อยละ 50 และโรงเรียนเอกชนออกเองร้อยละ 50 เป็นต้น ส่วนค่าตอบแทนครูที่เป็นข้าราชการ รัฐคงต้องจ่ายเอง 
ได้ครูที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ
  • หากทำเช่นนี้ได้ ผมว่าจะมีเด็กเก่งๆ หันมาเรียนเพื่อเป็นครูกันมากขึ้น เพราะหลังจากจบมีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการครูของรัฐก็ได้  สามารถไปสอนอยู่ในโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนในสังกัดอื่นใดก็ได้ ดังเช่น อาชีพแพทย์ เภสัช วิศวกร เป็นต้น 
  • ใบประกอบวิชาชีพครูจะมีคุณค่าสำหรับครูทุกคน และครูเหล่านั้นจะต้องพึงรักษาความเป็นมืออาชีพอยู่เสมอด้วยเกณฑ์การวัดและประเมินผลอย่างเข้มข้นในกระบวนการขอต่อใบอนุญาตของคุรุสภา (เหมือนกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ที่เขาทำ)
  • ที่สำคัญที่สุด เราจะได้ครูที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ เพราะเขาต้องพัฒนาความเป็นมืออาชีพของเขาอยู่เสมอเพื่อแลกกับค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพที่ได้รับ 
ที่นำเสนอมานี้ เป็นเพียงแค่แนวคิดเบื้องต้น ถ้าคิดว่ามีความเป็นไปได้ คงต้องมีการศึกษากันอย่างละเอียด จากเจ้าของกระทรวง ทบวงกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  เพื่อให้มีความรอบคอบ มีการจัดวางกฏเกณฑ์อีกหลายขั้นตอน   แต่ก็ดีกว่าไม่คิดอะไรเลย...

หากเราคิดเหมือนเดิมๆ แล้วอยากจะได้สิ่งใหม่ 
ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ 

******************************* 
ชาตชยา ศึกษิต : 22 ก.ค.2560 

ที่มาข้อมูล
  • วิกีพีเดีย. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ. (https://th.wikipedia.org/wiki/ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ) สืบค้นเมื่อ 22 ก.ค.2560
  • พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ.2547 

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การใช้คำถาม 5 ข้อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนตัดสินใจ

ตอนนี้เริ่มมีการนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น มุ่งประสงค์ก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผมรู้สึกชื่นชมที่หลายคนหลายองค์กรพยายามถอดความรู้เกี่ยวกับ " หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"  ซึ่งในหลวงฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบไว้เป็นหลักคิดสำคัญแก่คนไทย ไม่เว้นแม้แต่คนต่างชาติในหลายประเทศก็นำไปใช้แล้วเช่นกัน


หลักการสำคัญของแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล ความมีภูมิคุุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขของการมีความรู้และความมีคุณธรรม 

แต่ว่าการกระทำหลายอย่างที่เราได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ผมเห็นว่า พวกเราหรือแม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่สามารถถอดรหัสความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้แจ่มชัดนัก เพราะยังมีความสับสนในการที่จะนำมาเป็นหลักคิดพื้นฐานของการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

คำถาม 5 ข้อ 
ผมฟังจากอาจารย์ท่านหนึ่งบรรยายเอาไว้ในหลักสูตร e-learning โครงการ “สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม” (New Entrepreneurs Creation) ซึ่งจัดทำโดยสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม   ท่านบรรยายว่า ลองใช้คำถาม 5 ข้อ แล้วตอบด้วยตัวเองดูว่า จะสอดคล้องกับหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ดังนี้
  1. ทำไม? เราต้องทำ : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความมีเหตุมีผล"
  2. แล้วเราจะทำแค่ไหน? : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความพอประมาณ"
  3. แล้วเรามีแผนหรือยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่จะทำชัดเจนแค่ไหน? และมีแผนฉุกเฉินเตรียมไว้บ้างหรือปล่าว? : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี"
  4. เราได้ศึกษาคนที่เขาทำมาก่อนเพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เสริมจุดแข็ง ลบจุดอ่อน หรือยัง?  : หากตอบได้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ "การมีความรู้"
  5. สิ่งที่เราทำเกิดประโยชน์ หรือมีผลกระทบทางลบกับประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมหรือไม่? : หากตอบได้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ "ความมีคุณธรรม"
ไม่ว่าผู้อ่านกำลังจะทำอะไรสักอย่าง ลองตอบคำถาม 5 ข้อนี้ดู ท่านจะได้รู้ว่า นั่นแหละคือหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  หากเริ่มต้นด้วยเหตุผลไม่พอแล้ว ก็หยุดทำเสีย และหากท่านตัดสินใจทำแล้ว ท่านก็จะได้ไม่โลภมากจนเกินพอดี  มีแผนการทำงานเพื่อประกันความสำเร็จ มีความรู้ในการทำงาน และมีคุณธรรมต่อสังคม  


ก่อนคิดโครงการและแผนงาน
งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากโครงการและแผนงานของกระทรวง ทบวงกรม ต่างๆ เกือบทั้งสิ้น (ตามภาพด้านบน) ดังนั้นการคิดโครงการหรือแผนงานใดๆ หากยึดหลักคำถาม 5 ข้อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะเป็นวิธีที่ใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า อย่าลืมว่าปัจจุบัน "ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย ยังต้องกู้เงินต่างประเทศมาใช้จ่ายในบ้านตัวเอง" ซึ่งมันสวนทางกับคำว่าพอเพียงหรือพอประมาณอย่างสิ้นเชิง ลองแค่ตอบคำถามข้อแรก ซึ่งหากไม่เข้าข้างตัวเอง มีความเป็นกลาง และมีเหตุผลเพียงพอแล้ว ก็ทำต่อ หากคิดว่าไม่สมเหตุสมผลก็ควรหยุดทำ เช่น
  • ทำไม? เราต้องซื้อเครื่องบิน รถถัง และเรือดำน้ำ
  • ทำไม? เราต้องรีบเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
  • ทำไม? เราต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อกำจัดผับชวา
  • ทำไม? เราต้องใช้ยางพาราทำถนน 
  • ทำไม? เราต้องปฏิรูปตำรวจ
  • ทำไม? เราต้องปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น
  • ทำไม? เราต้องเชิญชาวต่างประเทศมาลงทุนในบ้านเรา
  • ทำไม? เราต้อง.................??????? 
เหตุเพราะประเทศไทยของเรามีรายได้น้อย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาใช้จ่าย  ดังนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเลือกโครงการที่มีความจำเป็นตามลำดับความเร่งด่วนที่แท้จริงแล้ว จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้มาก ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อย่างเช่นโครงการหลายโครงการในทุกวันนี้

**********************
จุฑาคเชน : 20 ก.ค.2560

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คูปองพัฒนาครู 10,000 บาท ขอให้ครูเอกชนและครู อปท.บ้างได้ไหม?

กระทรวงศึกษาธิการ ใช้งบประมาณแผ่นดิน แจกคูปองพัฒนาครูสังกัด สพฐ. จำนวน10,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นนโยบายที่ดี แต่ควรให้คูปองนี้ แก่ครูสังกัดอื่นๆ ด้วย



นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ตอนหนึ่งว่า

"สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาครูนั้น เท่าที่ดูขณะนี้มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่มีการใช้แบบกระจัดกระจาย ต่อไปนี้ การอบรมครูตนจะใช้เป็นระบบคูปอง โดยจะให้คูปองกับครูจำนวน 10,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเลือกไปเข้าอบรมพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งปัจจุบันเรามีครูทั่วประเทศกว่า 400,000 คน จะใช้งบเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น จะทำให้ประหยัดงบไปได้มาก จะได้นำเงินส่วนที่เหลือไปพัฒนาครูด้านอื่นๆ ต่อไป" 
(ที่มาข้อมูล : ไทยโพสต์ :  http://www.thaipost.net/?q=แจกคูปองพัฒนาครู1หมื่นบคนปี)

ครูไม่ใช่จะมีเฉพาะ สพฐ.
ปัจจุบัน ครูที่สอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น ไม่ใช่จะมีแต่เฉพาะข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น  แต่ยังมีครูในโรงเรียนเอกชน ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และครูที่สังกัดองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกด้วย หากเอาตัวเลขกลมๆ พอที่จะสรุปจำนวนได้ ดังนี้
  • ครู สังกัด สพฐ. จำนวน 400,000 คน คิดเป็นร้อยละ 74
  • ครู สังกัด สช.    จำนวน 111,500 คน คิดเป็นร้อยละ 21
  • ครู สังกัด อปท. จำนวน   30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 5 
ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียนทุกคน ล้วนเป็นความรับผิดชอบของครูทุกคน ทุกสังกัด 


พ่อต้องดูแลลูกๆ ทุกคนอย่างทั่วถึง
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบการศึกษาของแผ่นดินในภาพรวม นำงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาครู นั้นถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ควรจำกัดเฉพาะ ครู สพฐ. ครูในสังกัด สช. และครูในสังกัด อปท. ก็สมควรที่จะได้รับการพัฒนาด้วย เหตุผลเพราะ 
  • ครูทุกคน ทุกสังกัด ควรได้รับสิทธิคูปองการพัฒนาครู ซึ่งนำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพราะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของชาติในภาพรวมล้วนขึ้นอยู่กับครูทุกคน ทุกสังกัด
  • การใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาครูเฉพาะในสังกัด สพฐ. จึงไม่เป็นธรรมกับนักเรียนและผู้ปกครองในสังกัดอื่นๆ 
  • นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด ควรมีสิทธิที่จะมี "ครู" ที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ เหมือนๆ กัน
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะพ่อ ต้องดูแลลูกๆ ทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ดูแลเฉพาะพี่ สพฐ. แต่ น้อง สช. และ น้อง อปท. กลับไม่เหลียวแล

1,460 หลักสูตร
ตอนนี้ สถาบันคุรุพัฒนา ได้รับรองหลักสูตรการพัฒนาครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว จำนวนถึง 1,460 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีๆ ทั้งนั้น 
น่าเสียดายที่ ครูเอกชน และครู อปท.คงไม่มีโอกาสได้เข้าไปอบรม 

ท่าน รมว.ศธ. บอกว่ามีงบประมาณพัฒนาครู 10,000 ล้านบาท แจกคูปองให้ครู สพฐ. 4,000 ล้านบาท ยังพอมีเงินเหลือ 

หากท่านจะกรุณาแล้ว เงินส่วนที่เหลือแบ่งจ่ายให้ ครูเอกชน ซึ่งสังกัด ศธ. เหมือนกัน สัก 1,115 ล้านบาท และ ครู สังกัด อปท. กระทรวงมหาดไทย สัก 300 ล้านบาท เพื่อไปพัฒนาตนเองก็น่าจะดีนะครับ เพื่อคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าเขาจะเรียนอยู่ในสังกัดใด

********************
ชาติชาย คเชนชล : 13 ก.ค.2560

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ขอตอบคำถาม 4 ข้อด้วยคน แค่ 3 คำ : Let it be

ตอนนี้ ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดต่างๆ เชิญชวนประชาชนตอบคำถาม 4 ข้อ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ในตอนเริ่มแรกผมไม่ค่อยกล้าตอบเพราะเป็นแค่กระแสข่าว แต่ตอนนี้มีการเชิญชวนอย่างเป็นทางการ ผมจึงขอตอบด้วยคน ซึ่งคำตอบของผมถือเป็นทัศนะส่วนตัว คิดว่าคงไม่น่ามีผลกระทบต่อหน้าที่การงานใดๆ 


ผมเข้าไปดูแบบฟอร์มการตอบคำถามที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ โพสต์ไว้  รู้สึกไม่กล้าตอบเลย โดยเฉพาะคำตอบ ข้อ 1 ให้เลือกแค่ ได้ หรือ ไม่ได้ ส่วนข้อ 3 ให้เลือกว่า ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกต้อง หลายคนอาจเห็นว่าเรื่องแค่นี้ไม่สลักสำคัญใดๆ แต่ส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าคำตอบเหล่านี้ หากมีการสรุปผลเป็นเชิงสถิติออกมาแล้วล่อแหลมต่อการชี้นำสังคมได้  เช่น   
  • ข้อ 1 ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ได้ ร้อยละ 80
  • ข้อ 3 ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 70
หากคำตอบเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อสังคมทั้งทางด้านบวกและลบ ทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ที่สูญเสียประโยชน์จากข้อคำถามนั้นๆ ผมจึงคิดว่าการตอบคำถามในแบบฟอร์มควรเป็นปลายเปิดทั้งหมด ให้ประชาชนเขียนพรรณาได้เอง เช่น ได้หรือไม่ได้ เพราะสาเหตุอะไร เป็นต้น อย่างนี้น่าจะมีความเหมาะสมกว่า ซึ่งรัฐบาลอาจจะได้แนวคิดหรือข้อสังเกตของประชาชนเพื่อไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย
 


ขอตอบด้วยคน
คำถามทั้ง 4 ข้อนั้น  หากวิเคราะห์ "ผู้ที่คิดคำถาม" ในภาพรวมแล้วเห็นว่า ผู้คิดคำถามมีทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความเชื่อว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี มองโลกในแง่ลบและเชื่อว่าประเทศไทยจะมีปัญหาในอนาคต ไม่มีใครดีพอที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้   

แต่หากมองในทางที่ดี คำถามเหล่านี้ "ก็สามารถช่วยสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ให้หันมาเลือกตั้งคนที่ดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง" ได้เช่นกัน

ผมขอตอบคำถามทั้ง 4 ข้อ สั้นๆ เพียง 2 บรรทัด ว่า 

ทุกอย่างมันมีทางของมันเอง อย่าไปพะวงมาก ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีของมัน หรือ 3 คำสั้นๆ คือ "Let it be"    

ประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ผ่านมาล้วนมีการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้ง ก็เพราะมันเป็นไปตามวิถีของมัน  เมื่อถึงเวลานั้น มันจะมีทางออกของมันเอง 
  • ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลจะไม่มีธรรมาภิบาล 
  • ไม่ต้องกลัวว่าประชาชนจะเลือกตั้งนักการเมืองเลวๆ เข้ามาอีก  
  • ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลใหม่ จะไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์หรือการปฏิรูป  เขาย่อมมีวิถีในการบริหารจัดการประเทศของเขาเอง
และเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลมีอยู่ ซึ่งท่านสร้างเอาไว้เอง ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ท่านกล่าวว่า "เป็นฉบับปราบโกง" ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ดังนั้น ท่านจึงไม่ต้องกลัวในสิ่งที่ท่านได้ตั้งคำถามมาหรอกครับ  น่าจะสบายใจได้ 




ท่านใด อยากตอบคำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี  ไปที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดของท่านได้ สำหรับชาวราชบุรี ไปได้ตามภาพด้านล่างนี้ครับ 




อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีของมัน 
Let it be and Let it go.

**********************
ชาติชาย คเชนชล : 13 มิ.ย.2560