วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 2 ลงมือเขียน)

ต่อจาก มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 1 เริ่มฝึกหัด) 


หลังจากตอนที่ 1 ได้รับทราบถึงคุณลักษณะของนักประพันธ์ และลองเริ่มฝึกหัดเพื่อเป็นนักเขียนเบื้องต้นตามขั้นตอนของหลวงวิจิตวาทการกันไปบ้างแล้ว ตอนนี้จึงอยากเชิญชวนให้ลองเขียนดูจริงๆ ในการฝึกเขียนครั้งแรก แนะนำให้ลองเขียนบทความดูก่อน       

บทความไม่ใช่เรียงความธรรมดาและไม่ใช่ข่าว หากเป็นความเรียงที่มีเรื่องราวอันเป็นมูลฐานมาจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หรือเรื่องที่แต่งตามจินตนาการของผู้เขียน ลักษณะเฉพาะของบทความมีดังนี้
  1. เป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากสนใจอยู่ในขณะนั้น
  2. มีสาระ แก่นสาร ให้ความรู้ มิใช่เรื่องเลื่อนลอยเหลวไหล
  3. มีทัศนะข้อคิดเห็น ข้อวินิจฉัยของผู้เขียนแทรกอยู่ด้วย
  4. เนื้อหาสาระเหมาะกับผู้อ่านระดับมีการศึกษา
  5. มีวิธีเขียนชวนอ่าน ชวนให้คิด ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน
หลักการเขียนบทความ
การเขียนบทความมีหลักเช่นเดียวกับการเขียนเรียงความ แบ่งโครงเรื่องออกเป็น 3 ตอน คือ นำเรื่อง (ความนำ) เนื้อเรื่อง (ดำเนินเรื่อง) และจบเรื่อง (ลงท้าย สรุปความ) โดยการเขียนบทความควรคำนึงถึงหลักต่างๆ ดังนี้
  1. การเลือกเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่คนกำลังสนใจ หรือกำลังเป็นกระแสนิยม 
  2. การรวบรวมเนื้อหา ผู้เขียนควรสืบหาข้อมูลให้ชัดเจน  อาจสืบค้นไปถึงแหล่งต้นกำเนิด การสัมภาษณ์ การอ่านเอกสาร ทดลอง ปฏิบัติ จนคิดว่าเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ ควรระบุที่มาข้อมูลหรือเอกสารอ้างอิงเอาไว้ด้วย
  3. การกำหนดจุดมุ่งหมายเฉพาะการเขียน เลือกสำนวนการเขียนให้ตรงกับเรื่องว่า ต้องการให้ผู้อ่านได้รับอะไร ทำอะไร คิดอย่างไร เป็นต้น
  4. การวางโครงเรื่อง ควรวางโครงเรื่องให้ตรงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ กำหนดวิธีการเขียนและการดำเนินเรื่องให้สอดคล้องต้องกัน 
  5. การตั้งใจเขียนให้ได้เนื้อหาสาระ อ่านเพลิน ใช้ภาษาแจ่มแจ้ง เร้าใจ ชวนให้ติดตาม ใช้เหตุผลที่น่าเชื่อถือเสนอทัศนะ
  6. ทบทวนดูสาระของเรื่องว่าตรงกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้หรือไม่ ครอบคลุมหมดหรือยัง ถ้าไม่ตรงไม่ครอบคลุมก็ควรแก้ไข 
  7. เมื่อเขียนเสร็จแล้วควรเก็บไว้สักสองสามวัน แล้วนำมาอ่านตรวจทานอีกครั้งเพื่อหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น หรืออาจให้ผู้รู้อ่านบทความของเราแล้ววิจารณ์ก็ยิ่งดี 
ที่มาของภาพ http://news-internetit.blogspot.com/2014/11/blog-post_11.html

ลงมือเขียน Just Do it
ถึงตอนนี้แล้ว ลองเริ่มลงมือเขียนเลยครับ เริ่มต้นจากการเขียนบทความสั้นๆ ในโซเชียลมีเดียที่ตัวเองใช้อยู่ก่อนก็ได้ เช่น ในเฟสบุ๊ค ในไลน์ ฝึกเขียนเรื่องราวที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ร้านอาหารที่เราไปกิน สถานที่ที่เราไปเที่ยว ทัศนะส่วนตัวในเรื่องที่เราสนใจ เป็นต้น อย่ากลัวว่าจะไม่มีคนอ่านให้คำนึงว่า  "นี่คือการฝึก" การหมั่นเขียนบทความเรื่อยๆ บ่อยๆ ผมเชื่อว่าวิธีเขียนของแต่ละคนก็จะพัฒนาขึ้นไปเอง ทั้งสำนวน โวหาร และแง่คิดต่างๆ 

นอกจากเขียนในโซเชียลมีเดียแล้ว หากผู้เขียนต้องการรวบรวมบทความให้เป็นเรื่องเป็นราว  แนะนำให้ลองใช้บริการ "เว็บบล็อก" ดู เว็บบล็อกเขียนบันทึกได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์อะไรมากมายนัก  สามารถเขียนบันทึกได้ไม่จำกัดเรื่อง  มีทั้งบริการฟรี และเสียเงิน เว็บบล็อกที่ผมใช้เขียนอยู่นี้ คือ Blogger ของ Google  ไม่เสียค่าใช้จ่าย  ลองสมัครใช้ได้ที่ www.blogger.com      

ที่เชิญชวนให้ทุกคนมาเป็นนักเขียนนั้น ใช่ว่าผมจะเป็นนักเขียนชื่อดังอะไร ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นฝึกหัดอยู่ แต่หากทุกคนได้ลองเขียนแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองมีสาระและคุณค่ามากขึ้น เรื่องราวหลากหลายที่แต่ละคนได้พบประสบในทุกวัน หากมีการเขียนหรือการบันทึกไว้ ทุกเรื่องล้วนมีประโยชน์ในตัวของมันเอง อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง ต่อมาก็อาจเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด หรือผู้ที่สนใจในเรื่องที่เราบันทึกนั้นๆ 

ลองดูครับ  เริ่มเลย  

อ่านต่อ มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 3 แรงบันดาลใจ)            

*******************************
จุฑาคเชน : 1 ส.ค.2559

ที่มาข้อมูล
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. (2539). หลักนักเขียน. กรุงเทพฯ  : ต้นอ้อ แกรมมี่ 


ไม่มีความคิดเห็น: