วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ตักบาตรพระ 10,000 รูป พุทธโปเจคท์อภิมหาบุญ

การตักบาตรพระ 10,000 รูป ภายใต้สโลแกน "มหากุศลครั้งประวัติศาสตร์ รวมพลังพุทธบริษัท 4 ทำบุญใหญ่เพื่อแผ่นดิน ถวายเป็นพระพุทธบูชา สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาฯ"  ที่จังหวัดราชบุรีบ้านผม จะจัดให้มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2554  ช่วงเวลา 06:00-08:00 น. ณ บริเวณถนนคฑาธร ตั้งแต่หอนาฬิกาหน้าโรงพยาบาลราชบุรี ถึงสี่แยกหลังสถานีตำรวจภูธรราชบุรี

จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยอยากเขียนเรื่องนี้นัก เพราะมันหมิ่นเหม่ต่อเส้นบางๆ ของคำว่า "บุญ" ที่อาจจะเข้าใจกันไปคนละทาง แต่ผมก็อดที่จะ "คิด" ไม่ได้ว่า คณะเจ้าภาพผู้จัดเขามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร  ผมจึงจำเป็นต้อง "เขียน" ตามชื่อบล็อกของผมคือ "คิดแล้วเขียน"

ผมจำได้ว่า "โครงการตักบาตรพระ 1,000,000 รูป 77 จังหวัดทุกวัดทั่วไทย จังหวัดราชบุรี 10,000 รูป" นี้ ปีที่แล้ว จ.ราชบุรีก็จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ต.ค.2554 (ดูรายละเอียดในข่าว)  และปีนี้ก็จัดอีก  วัตถุประสงค์ก็คล้ายกัน นอกจากเรื่องบุญแล้วก็คือ ข้าวสารอาหารแห้งที่ได้รับจากการใส่บาตร จะถวายให้แด่พระภิกษุสงฆ์ 286 วัดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนอาหารที่เก็บไว้ไม่ได้นาน จะส่งไปสนับสนุนพระที่บวชรุ่นเข้าพรรษา 6 ศูนย์บวชใน จ.ราชบุรี (ตามโครงการบวชพระ 100,000 รูป ทั่วประเทศ)  ส่วนเงินที่ได้รับจากโครงการนี้ ไม่ได้กล่าวถึง

ใครเป็นเจ้าของโครงการ
เผอิญผมได้อ่านตัวโครงการตักบาตรพระ 10,000 รูปฯ ของ จ.ราชบุรีในครั้งนี้ จึงพอทราบว่าเจ้าของโครงการก็คือ มูลนิธิพระเทพกิตติปัญญาคุณ ศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวนิช ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี (ซึ่งน่าจะเป็นสาขาหนึ่งของวัดพระธรรมกาย) และชมรมกัลยาณมิตรจังหวัดราชบุรี  ในท้ายโครงการนี้ มีผู้ที่ร่วมลงนาม ดังนี้
  • ผู้สนับสนุนโครงการ นายสุทธิรักษ์ หนูฉ้ง ผอ.สำนักพระพุทธศานา จ.ราชบุรี, นางภัทราภรณ์  บรรเทาทุกข์ วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี, นางศมานันท์ เหล่าวณิชวศิษฎ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี, นายสมบูรณ์   ศิริเวช นายอำเภอเมืองราชบุรี และนายวันชัย  ธีระสัตยกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี
  • ผู้เห็นชอบโครงการ พระทวี  พรหมเทโว ประธานสงฆ์ศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวนิช , นายเจน  รัตนพิเชฎฐชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และพระครูสิริคณาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี
  • ผู้อนุมัติโครงการ นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และพระเทพวิสุทธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

ใช้เงินจัดครั้งนี้กว่า 5 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายการจัดตักบาตรพระฯ ครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 5,324,600 บาท โดยพอจะสรุปให้เห็นโดยสังเขป ดังนี้
  • ค่าอุปกรณ์จัดเวที 64,000 บาท
  • ค่าอุปกรณ์จัดพื้นที่นั่งตักบาตร 26,000 บาท
  • ค่าเช่าเครื่องเสียงและลำโพง 25,000 บาท
  • ค่าเครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า 15,000 บาท
  • ค่าประชาสัมพันธ์ 345,600 บาท
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพิธีกรรมสงฆ์ 4,080,000 บาท รายการนี้ผมขออนุญาตแยกย่อยให้เห็นครับ ดังนี้
    • ภัตตาหารเช้า 10,000 รูปๆ ละ 50 บาท = 500,000 บาท
    • ภัตตาหารเพล 10,000 รูปๆ ละ 50 บาท = 500,000 บาท
    • ค่าผ้าไตรและเครื่องไทยธรรมถวายพระสังฆธิการ  40 ชุดๆ ละ 1,000 บาท = 40,000 บาท
    • ถวายปัจจัย/ค่ายานพาหนะพระสังฆาธิการ 40 รูปๆ ละ 1,000 บาท = 40,000 บาท
    • ถวายปัจจัย/ค่ายานพาหนะพระภิกษุ 10,000 รูปๆ ละ 300 บาท = 3,000,000 บาท  
  • ค่าอาหารแห้งจัดโต๊ะตักบาตรเจ้าภาพ 1,000 โต๊ะๆ ละ 500 บาท = 500,000 บาท
  • ค่าจัดทำของที่ระลึก โล่ ใบประกาศเกียรติคุณ 100,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 169,000 บาท

เอาเงินจากที่ไหนมาจัด
ในโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของงบประมาณในการจัดทำโครงการไว้ดังนี้
  • ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ
  • จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
  • จากการจองโต๊ะอาหารตักบาตร
    • เจ้าภาพกิตติมศักดิ์ ร่วมทำบุญ กองละ 10,000 บาท (ได้รับโบว์ที่นั่งโต๊ะอาหารตักบาตร 1 โต๊ะและของที่ระลึก)
    • เจ้าภาพอุปถัมภ์ ร่วมทำบุญ กองละ 5,000 บาท (ได้รับโบว์ที่นั่งโต๊ะอาหารตักบาตร 1 โต๊ะและของที่ระลึก

ลองคิดเล่นๆ ดู
ในการประมาณการของคณะเจ้าภาพที่จัดงานตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ่อค้า พี่น้อง ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ชาวจังหวัดราชบุรีทุกอำเภอ มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จำนวนไม่น้อยว่า 30,000 คน (ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณการว่าเป็นเจ้าภาพกิตติศักดิ์และเจ้าภาพอุปถัมภ์ จำนวน 1,000 คน)

จริงๆ แล้วผมก็รู้สึกแอบเป็นห่วงว่า คณะเจ้าภาพจะหาเงินมาจากไหนมาใช้จัดการงานตักบาตรฯ ครั้งนี้ ตั้ง 5 ล้านกว่าบาท คงไม่มีใครเสียสละจัดงานให้คนอื่นได้บุญ แล้วตัวเองขาดทุนหรอกครับ  ผมเลยลองคิดเล่นๆ ดู
  • ค่าเจ้าภาพกิตติมศักดิ์  50 คนๆ ละ 10,000 บาท  = 500,000 บาท
  • ค่าเจ้าภาพอุปถุมภ์ 950 คนๆ ละ 5,000 บาท = 4,750,000 บาท
  • บุคคลทั่วไป 29,000 คน (ติดเงินที่ต้นผ้าป่าหรือจุดบริจาคในบริเวณงาน) เฉลี่ยคนละ 50 บาท = 1,450,000 บาท
  • รวมได้รับเงินทั้งสิ้น 6,700,000 บาท
  • (ยังไม่รวมเงินที่ได้รับจากการบริจาคของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ)

หากเป็นไปตามประมาณรายรับนี้ คณะเจ้าภาพผู้จัดฯ ก็น่าจะเหลือเงินจำนวน 1,375,400 บาท (6,700,000-5,324,600 บาท)
ข้าวสารอาหารแห้งท่านเอาไปให้พระภาคใต้ และพระบวชใหม่ แล้วหากมีเงินที่ได้ ท่านเจ้าของโครงการทั้งหลาย ท่านจะเอาไปให้ใคร (เพราะในวัตถุประสงค์ของโครงการ ท่านทั้งหลายไม่ได้เขียนไว้เลย)

แต่ในทางกลับกัน หากคณะเจ้าภาพผู้จัดฯ รณรงค์ เชิญชวน ประชาสัมพันธ์ อย่างเต็มที่แล้ว จำนวนผู้ที่มาใส่บาตรในอภิมหาบุญครั้งนี้ ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คณะเจ้าภาพผู้จัดฯ ก็อาจขาดทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามโครงการฯ นี้น่าจะไม่ต้องห่วง เพราะมีทั้งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี และท่านผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เป็นตรายางการันตีอยู่แล้ว

เรื่องราวของ "พุทธโปเจคท์อภิมหาบุญ" นี้ ท่านลองศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประวัติหรือการดำเนินการของวัดพระธรรมกาย,มูลนิธิธรรมกาย, พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย), พระเทพกิตติปัญญาคุณ (เจ้าของวลี"ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป") ชมรมพุทธศาสตร์สากล, มูลนิธิพระเทพกิตติปัญญาคุณ ศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวณิช  ฯลฯ ดู แล้วท่านอาจจะเชื่อมโยงเรื่องราวของ "การตักบาตร 1,000,000 รูป 77 จังหวัด" ได้มากยิ่งขึ้น แล้วท่านจะมองเห็นมันด้วยปัญญา

คงไม่มีใครเสียสละจัดงานให้คนอื่นได้บุญ
แล้วตัวเองขาดทุนหรอกครับ 
เพราะผมเชื่อว่ามันไม่มี

(บทความที่ผมเขียนนี้ ไม่ได้มีอคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  ตั้งใจเขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้สติและปัญญาของท่านเองเป็นตัวพิจารณา)
***************************************************
จุฑาเคเชน : 2 ก.ย.2554 

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

"ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นไปไม่ได้.."