วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เด็กนักเรียนต่างชาติในราชบุรี

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2553 ณ มุมเล็กๆ ในตลาดเมืองทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม "วันสิทธิเด็กสากล" ซึ่งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือที่เรียกย่อๆ ว่า LPN (Labour Rights Pormotion Network Foundation) สำนักงานราชบุรี เป็นผู้จัดขึ้น (ซึ่งจริงๆ แล้ววันสิทธิเด็กสากลนี้ องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ใน วันที่ 20 พ.ย.ของทุกปี แต่ LPN จัดกิจกรรมล่วงหน้าก่อน)

ตอนแรกผมไม่ทราบเลยว่า งานนี้คืองานอะไรกันแน่ เห็นเพื่อนๆ ที่เป็นครูบอกว่าเป็น "งานวันเด็กชาติพม่า"  และไม่เคยทราบเลยว่า จ.ราชบุรี มีมูลนิธิ LPN นี้ทำงานอยู่ด้วย แต่หลังจากได้พูดคุยกับคุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการองค์กร LGN แล้วจึงพอทราบได้ว่า 

กิจกรรมวันนี้จัดขึ้นให้กับเด็กนักเรียนชาวต่างชาติในราชบุรี  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวพม่า ส่วนมอญ กะเหรี่ยง ก็มีอยู่บ้าง เด็กเหล่านี้อพยพตามพ่อแม่ที่มาใช้แรงงานอยู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี  มีตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงระดับประถมศึกษา ส่วนมัธยมศึกษาก็มีอยู่บ้างเล็กน้อย โดยเด็กเหล่านี้เรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐบาลนี้แหละ อย่างเช่นในราชบุรี ก็มี ร.ร.วัดดอนแจง ร.ร.วัดเขางูสันติธรรม ร.ร.วัดใหม่นครบาล ร.ร.เขาถ้ำกุญชร และ ร.ร.ชุมชนตะโกล่าง เป็นต้น สอบถามหัวหน้าสำนักงาน LPN ราชบุรี จึงพอทราบว่า จำนวนเด็กนักเรียนต่างชาติ ในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีอยู่ประมาณ 200 กว่าคน

จากการพูดคุยกับหลายฝ่าย (เท่าที่มีเวลาในขณะนั้น) พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนของเด็กต่างชาติเหล่านี้ ก็คือ
  1. ไม่ค่อยมีโรงเรียนที่จะรับเด็กเหล่านี้เข้าไปเรียน (อาจเพราะไม่อยากได้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ) ทั้งๆ ที่เด็กเหล่านี้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเหมือนเด็กนักเรียนไทยทั่วไป  การประสานงานเพื่อหาโรงเรียนให้เด็กๆ เหล่านี้เรียน จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก 
  2. ปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ค่อยเข้าใจ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ในการที่จะเอาลูกหลานของเขาไปเรียนในโรงเรียนของไทย
  3. ปัญหาการย้ายที่ทำงานบ่อยๆ ของพ่อแม่ ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง พอไปทำงานที่ใหม่บางครั้งเด็กเหล่านี้ก็ไม่ได้เรียนต่อ
  4. ปัญหาการเรื่องการออกผลการศึกษาให้แก่เด็กเหล่านี้ เพื่อนำไปเรียนต่อในโรงเรียนแห่งใหม่ ยังไม่เป็นที่ยอมรับ
  5. ปัญหาเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่เด็กต่างชาติเหล่านี้ในการเรียนร่วมกับนักเรียนไทย   
  6. ปัญหาเรื่องงบประมาณในการรับ-ส่งเด็กนักเรียน ซึ่งปัจจุบัน มูลนิธิ LPN จะจัดหารถตะเวนรับ-ส่งนักเรียนต่างชาติเหล่านี้จากสถานที่พักของพ่อแม่ผู้ปกครองไปยังโรงเรียน  เงินค่าจ้างรถรับ-ส่ง ก็เก็บมาจากพ่อแม่ผู้ปกครอง (ที่พอจ่ายได้) ผสมกับเงินของมูลนิธิ LPN ที่มี บางครั้งหากระยะทางไกลมากเกินไปก็ไม่สามารถจัดรถรับ-ส่งให้เด็กเหล่านี้ได้  (เพราะโรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้ๆ ไม่ยอมรับเด็กนักเรียนต่างชาติเหล่านี้เข้าเรียน)
ในช่วงเวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ มูลนิธิ LPN ยังอุตส่าห์นำเด็กต่างชาติเหล่านี้มารวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ฝึกทักษะการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นการช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กต่างชาติเหล่านี้ ดียิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

กิจกรรม  "วันสิทธิเด็กสากล" ในวันนี้ ถึงแม้จะเป็นงานเล็กๆ ไม่มีพิธีรีตรองอะไรมากมาย และไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเท่าใดนัก  งบประมาณก็มีจำนวนจำกัด  แต่ผมคิดว่า "ถึงมันจะเล็ก มันก็มีค่ายิ่งใหญ่มาก ในใจของเด็กต่างชาติที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

ขอขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานใน มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ทุกคน

ชมภาพชุดกิจกรรมวันสิทธิเด็กสากล (ราชบุรี)

เขียนโดย จุฑาคเชน : 19 พ.ย.2553

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 21 ฉบับที่ 379 ประจำเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2553 หน้า 3

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มาจาก gotoknow เอาน้องปืนมา link ด้วยครับ

http://gotoknow.org/blog/beever/406701

ขจิต