วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ ตอน 5

แม้การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด จะทำให้บริษัท เอไอเอส มีรายจ่ายเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้น หาเป็นเหตุให้ต้องกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนกันใหม่ โดยอ้างว่าเป็นการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ไม่มีกำหนดไว้ในสัญญาหลัก ดังที่กล่าวอ้าง องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีความเห็นด้วยเสียงข้างมากว่า เป็นการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส ทั้งนี้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการประสานพิจารณาอนุมัติเสียก่อน เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงาน หรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเรื่องนี้เปลี่ยนไป กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับ... ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 7) ลงวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม หรือโรมมิ่ง และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท เอไอเอส หรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏว่า บริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส คิดเป็นร้อยละ 42.90 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เมื่อปี 2533 บริษัท เอไอเอส ได้เข้ารับสัญญาสัมปทานอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก ทศท. มีกำหนดอายุสัญญา 20 ปี และในปี 2539 ทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา(ครั้งที่ 4) ลงวันที่ 20 กันยายน 2539 ขยายกำหนดอายุสัญญาเป็น 25 ปี ต่อมาบริษัท เอไอเอส ต้องการขยายการให้บริการลูกค้าได้ทดลองเข้าไปร่วมใช้เครือข่ายของบริษัท ดีพีซี ที่บริษัท เอไอเอส เป็นผู้มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ประมาณร้อยละ 98.55 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานการจัดสรรคลื่นความถี่ และเป็นคู่สัญญากับ กสท. ครั้นวันที่ 20 กันยายน 2549 ทศท.และบริษัท เอไอเอส ตกลงแก้ไขสัญญา อนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ 7) เกี่ยวกับการใช้เครือข่ายร่วม มีสาระสำคัญคือ ทศท.อนุมัติให้บริษัท เอไอเอส สามารถนำค่าใช้เครือข่ายร่วม ที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้บริการรายอื่นมาหักออกจากรายได้ค่าบริการ และเงินอื่นใดที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้แบบอัตราก้าวหน้า ตามสัญญาหลัก ข้อ 30 และข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 4) ข้อ 7 โดยบริษัท เอไอเอส อ้างว่า เหตุที่ต้องใช้เครือข่ายร่วมกับบริษัท ดีพีซี เพราะบริษัท เอไอเอส มีปริมาณเลขหมายที่เปิดให้บริการจำนวนมาก ไม่เพียงพอกับความถี่ที่ได้รับจัดสรรจาก ทศท. 7.5 MHz ทำให้ขีดความสามารถของโครงข่ายจำกัดกว่าโครงข่ายอื่น และมีข้อจำกัดทางเทคนิค ทำให้ไม่สามารถวางโครงข่ายเพิ่มเติมได้อีก และเพื่อเป็นการลดข้อจำกัดทางเทคนิคของบริษัท เอไอเอส จึงต้องไปใช้เครือข่ายร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่ง ทศท.ควรรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาคลื่นความถี่ ข้ออ้างของบริษัท เอไอเอส ดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท เอไอเอส เอง ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันในทางการค้าในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ส่วนการกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ หรือข้อจำกัดเกี่ยวกับความถี่ที่ได้รับจาก ทศท. เป็นเรื่องที่บริษัท เอไอเอส สามารถคาดหมายได้อยู่แล้วในขณะที่เข้าทำสัญญาสัมปทานกับ ทศท. เพราะสัญญาสัมปทาน ข้อ 29.9 ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทศท.จะต้องจัดหาคลื่นความถี่ย่าน 909-915 MHZ และ 950-960 MHz สำหรับระบบ NMT900 ให้กับบริษัท เอไอเอส 400 ช่วงสัญญาณ ส่วนความถี่ที่จะใช้กับระบบจีเอสเอ็ม ทศท.จะดำเนินการขอและจัดสรรให้ต่อไปเมื่อได้รับแจ้งจากบริษัท เอไอเอส ทั้งปรากฏจากรายงานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมของคณะกรรมการบริหาร ทศท.ครั้งที่ 1/2545 วันที่ 21 สิงหาคม 2545 วาระที่ 4.12 เรื่องขออนุมัติหลักการใช้เครือข่ายร่วมกัน ในส่วนข้อพิจารณาของที่ประชุม ข้อ 2 ว่า สำหรับรายจ่ายของบริษัท เอไอเอส จากการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น ถือเป็นภาระหน้าที่ของบริษัท เอไอเอส ที่จะต้องขยายโครงข่ายให้สามารถรองรับการให้บริการ โดยบริษัท เอไอเอส จะเลือกวิธีการลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติม หรือการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ทศท.จัดจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับบริษัท เอไอเอส จนเต็มความสามารถของ ทศท. เท่าที่ ทศท.ได้รับมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ย่อมเป็นการปฏิบัติไปโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามสัญญาสัมปทานแล้ว เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวมิได้อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารจัดการของ ทศท.โดยตรง แต่ได้รับมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลข อีกทอดหนึ่ง และข้อสัญญาสัมปทานไม่มีสภาพบังคับไว้แต่อย่างใด้ว่า ทศท.จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าใช้จ่ายในเรื่องใดๆ หากไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นที่พอเพียงกับการให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัท เอไอเอส เพราะการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการแข่งขันสูงและต่อเนื่อง ย่อมมีความไม่แน่นอนจากสภาพการแข่งขันทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดเวลา และบริษัทผู้ให้บริการมักจะมีรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบที่ต่างกันไป โดยมักจะใช้วิธีการของให้คู่สัมปทานอนุมัติให้ทดลองให้บริการไปก่อนแล้วจึงเจรจากับผู้ให้สัมปทานต่อเนื่องกันไป ซึ่งส่วนใหญ่การเจรจามักประสบความสำเร็จตามที่ผู้รับสัมปทานร้องขอ อันเป็นการปฏิบัติไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา ฝ่ายที่รับสัมปทานไปแล้วแต่มักไม่ตรงตามข้อสัญญาดังที่สำนักงานอัยการสูงสุดเคยพิจารณาแจ้งไว้ ซึ่งปรากกฏอยู่ในรายงานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมของคณะกรรมการ ทศท.ครั้งที่ 3/2545 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ดังนั้นการที่ บริษัท เอไอเอส เลือกการขยายเครือข่ายการให้บริการ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ด้วยวิธีการใช้เครือข่ายร่วมกับบริษัท ดีพีซี ซึ่งถือได้ว่า เป็นบริษัทเดียวกับบริษัท เอไอเอส แทนที่จะลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการประหยัดเงินลงทุนการสร้างโครงข่าย และเป็นค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมของบริษัทตนเอง บริษัท เอไอเอส ไม่อาจที่จะกล่าวอ้างในเรื่องจำนวนความถี่ที่ได้รับการจัดสรรจาก ทศท.ได้ ทั้งไม่อาจปัดให้เป็นความรับผิดชอบของ ทศท.ที่จะต้องจัดหาความถี่มาให้เพียงพอแก่การให้บริการของบริษัท เอไอเอส ทั้งบริษัท เอไอเอส มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร 264 ข้อ 9 ข้อ 16 และ ข้อ 30 เมื่อสัญญาสัมปทานข้อ 9 กำหนดว่า บริษัท เอไอเอส ต้องเป็นผู้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา และรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องและอุปกรณ์ทั้งหมด ข้อ 16 กำหนดว่า ต้องจัดหาอุปกรณ์เซลูล่า 900 เพื่อให้เปิดบริการได้ ตามประมาณการลงทุนแผนการติดตั้งและสามารถบริการได้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และต้องให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และข้อ 30 กำหนดว่าต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท.เป็นรายปีตามหลักประกันขั้นต่ำ หรืออัตราร้อยละของรายได้ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่บริษัท เอไอเอส พึงได้รับในรอบปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใดๆ ทั้งสิ้น จำนวนไหนมากกว่าให้ถือเอาจำนวนนั้น บริษัท เอไอเอสจึงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเอง การแก้ไขสัญญาเพื่อปัดความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่ตนเองต้องรับผิดชอบ จึงขัดต่อสัญญาหลัก และถือว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการโดยผ่านการใช้เครือข่ายร่วม เป็นรายได้ และผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส พึงได้รับในรอบปีที่จะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท.ตามสัญญาหลักข้อ 30 มิใช่เป็นรายได้พิเศษนอกสัญญาดังที่บริษัท เอไอเอส กล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม การไม่ปฏิบัติตามสัญญาหลัก ด้วยการนำค่าใช้จ่าย ค่าเครือข่ายร่วม ซึ่งบริษัท เอไอเอส จะต้องรับผิดชอบตามสัญญา มาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ ย่อมเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ทศท. ที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการใช้บริการของลูกค้าเท่าจำนวนครั้งต่อนาทีที่มีการใช้บริการเครือข่ายร่วมกับเครือข่ายอื่น นับจากวันที่สัญญาแก้ไขมีผลบังคับ เดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนเมษายน 2551 ปรากฏจากรายงานการตรวจสอบว่า บริษัท เอไอเอส ใช้เครือข่ายร่วม 13,283,420,483 นาที คิดเป็นเงิน 6,960,359,401 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับจากการแก้ไขสัญญาที่ไม่ชอบด้วยสัญญาหลัก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แท้จริงอยู่ในบริษัท ชินคอร์ป และในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ส่วนข้อที่ว่า การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(ครั้งที่ 7 ) จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงาน ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ส่วนการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท. กับบริษัท ดีพีซี ปัญหาที่ควรวินิจฉัยเป็นประการแรก มีว่า ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป หรือไม่ ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า หน่วยงานของรัฐภายใต้อำนาจหน้าที่บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สมเหตุผล เพราะการที่ กสท.ปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมให้กับบริษัท ดีพีซี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เอไอเอส ที่มีบริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นอยู่จำนวน 1,263,712,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 43.06 ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป อยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้กล่าวหา นอกจากนี้ผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับจากการปรับลด ยังตกแก่หุ้นบริษัท ชินคอร์ป เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น จนกระทั่งมีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป เงินที่ได้จากการขายหุ้นจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2549 แม้การปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2548 ด้วยการที่บริษัท เอไอเอส มีหนังสือตามเอกสารหมาย ร 353 หน้า 13773 ถึงบริษัท ดีพีซี ขอปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม จากเดิม 2.10 บาท เป็น 1.10 บาท อันเป็นเวลาก่อนผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ขายให้กลุ่มเทมาเส็ก ก็ตาม แต่ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า บริษัท เอไอเอส ได้รับประโยชน์จาก กสท. ดำเนินการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมให้กับบริษัท ดีพีซี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึง 31 มีนาคม 2550 เป็นเงิน 796,220,310 บาท รวมทั้งที่ได้ความจากการไต่สวนว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน 2549 ซึ่งนายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ได้อนุมัติให้ปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม ตามที่ฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ กสท. โดยนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ มีหนังสือลงวันที่ 27 มิถุนายน 2549 เสนอ และให้มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึง 30 กันยายน 2549 เป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้น เป็นเวลาหลังจากวันที่มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่ได้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ในขณะที่มีการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม ดังนั้นหากผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับจากการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม ตกแก่หุ้นบริษัท ชินคอร์ป เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ย่อมมิใช่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่เป็นกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ที่ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ไปแล้ว และเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวอยู่ในขณะนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผลประโยชน์อันเกิดจากการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม จึงไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นในเรื่องปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมอีกต่อไป กรณีการละเว้นอนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนกิจการดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และกิจการของครอบครังของผู้ถูกกล่าวหา ในข้อนี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการตรวจสอบ และตามคำร้องของผู้ร้องอยู่ 3 กรณีด้วยกัน กล่าวคือ กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ กรณีอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 เรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ในบริษัท ไทยคม จากที่ต้องถือครองหุ้นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 40 และกรณีอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม 3 เกิดความเสียหาย จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศนี้ เป็นโครงการของประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์หลักจะให้มีดาวเทียมสื่อสารเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศเท่านั้น โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการในระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะมีการปรับปรุงระบบราชการ และมีการจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขึ้นมารับงานส่วนนี้จากกระทรวงคมนาคม ในเวลาต่อมา โดยมีบริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้รับสัมปทาน ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 1 กันยายน 2534 ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นชื่อของบริษัท ชินคอร์ป ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 449 ตามสัญญาดังกล่าวได้ระบุรายละเอียดไว้ในบทนำว่า สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ณ กระทรวงคมนาคม โดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งต่อไปจะเรียกว่ากระทรวงฝ่าย 1 กับบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ซึ่งต่อไปในสัญญานี้เรียกว่า บริษัทอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศเรื่องข้อกำหนดในการทำข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 20 กันยายน 2531 ให้ภาคเอกชนสนใจยื่นเสนอแสดงความจำนงที่จะขอรับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และบริษัทเป็นผู้หนึ่งที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวง และโดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ดังกล่าวข้างต้น เป็นโครงการของประเทศ ซึ่งเมื่อรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทแล้ว ดาวเทียมที่บริษัทจัดส่งขึ้นไป ตลอดจนสถานีภาคพื้นดินที่บริษัทสร้างขึ้นจะต้องตกเป็นของรัฐทันที และโดยที่กระทรวงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอของบริษัทเป็นข้อเสนอซึ่งเป็นที่พอใจของกระทรวง ดังนั้นกระทรวงโดยอนุมัติของรัฐมนตรี จึงได้คัดเลือกและตกลงให้บริษัทได้เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการนี้ และตามข้อสัญญา ข้อ 1 สิทธิให้บริการวงจรดาวเทียม กระทรวงตกลงให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงตกลงให้บริษัทมีสิทธิ์ในการบริหารกิจการ และการให้บริการวงจรดาวเทียมทรานส์ปอนเดอร์ เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า วงจรดาวเทียม และมีสิทธิ์เก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้วงจรดาวเทียม ทั้งนี้ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งสัญญานี้ ข้อ 2 ระยะเวลาดำเนินกิจการและการคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงตกลงให้บริษัทมีสิทธิ์ในการดำเนินกิจการในข้อ 1 มีกำหนด 30 ปีนับแต่วันลงนามในสัญญา ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า อายุสัญญา และกระทรวงตกลงจะคุ้มครองสิทธิ์ในการดำเนินกิจการและให้บริการวงจรดาวเทียมของบริษัทไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาดำเนินการแข่งขัน และจัดให้ผู้ใช้บริการวงจรดาวเทียมและสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินใช้วงจรดาวเทียม มีกำหนดระยะเวลา 8 ปี นับแต่ลงนามในสัญญา หากพ้นกำหนดระยะเวลา 8 ปีดังกล่าวแล้ว การคุ้มครองสิทธิ์ของบริษัทเป็นอันหมดไป ข้อ 5 การดำเนินงานและแผนดำเนินงาน 5.1 บริษัทตกลง 5.1.1 จัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงที่ 1 ขึ้นสู่วงโคจรออร์บิทอล โพซิชั่น ของกระทรวงตามที่กำหนดในข้อ 12 ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ตำแหน่งวงโครจร พร้อมจัดให้มีดาวเทียมสำรอง แบล็คอัพ และสำหรับดาวเทียมภาคพื้นดิน กราวน์แบล็คอัพ รวมทั้งจัดให้มีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง ดวงที่ 2 และดวงต่อๆ ไป ขึ้นใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องกันจนสิ้นอายุดาวเทียมดวงก่อน 5.1.4 จัดส่งดาวเทียมสำรองตาม 5.1.1 ขึ้นอยู่ในตำแหน่งวงโคจรอินออร์บิต แบ็กอัพ หลังจากดาวเทียมดวงแรกเริ่มให้บริการแล้วไม่เกิน 12 เดือน ข้อ 6 คุณสมบัติของดาวเทียม รายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะดาวเทียมแซทเทิลไลท์เทคนิเชียน ทุกดวงที่บริษัทสร้างและจัดส่งตามสัญญานี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงก่อน และอุปกรณ์ทั้งหมดของดาวเทียม จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี ทั้งนี้คุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง ตั้งแต่ดวงที่ 2 เป็นต้นไป จะต้องมีคุณสมบัติการใช้งานไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่ 1 ตามที่กำหนดในข้อ 7 แต่จำนวนวงจรดาวเทียมชนิดย่านความถี่ซีแบนด์ หรือ เคยูแบนด์ ตามข้อ 7.1.1 ให้เป็นไปตามที่กระทรวงและบริษัทจะตกลงกัน และบริษัทรับรองว่า ดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองของบริษัททุกดวงจะไม่ทำอินครายออร์บิต เว้นแต่ดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง ซึ่งมิใช่เป็นดาวเทียมหลักสำรองแล้วแต่ยังสามารถให้บริการวงจรดาวเทียม ....(สัญญาณหาย)....เพื่อใช้งานต่อเนื่อง ข้อ 13 การนำวงจรดาวเทียมไปให้ประเทศอื่นใช้ บริษัทจะให้โอกาสเท่าเทียมกันในการขอใช้วงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกราย และในกรณีที่มีวงจรดาวเทียมเหลือจากปริมาณการใช้ภายในประเทศ บริษัท ด้วยความเห็นชอบของกระทรวง สามารถนำวงจรดาวเทียมที่เหลือไปให้บริษัทอื่นใช้ได้ ข้อ 15 การโอนกรรมสิทธิ์ การส่งมอบ หรือรับมอบทรัพย์สิน บริษัทยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่จัดตั้งตามสัญญานี้ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวง ในวันที่ผ่านการทดสอบใช้งานจากทั้งสองฝ่าย หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียม รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามข้อ 5 หลังจากบริษัทจัดตั้งและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้บริษัทครอบครอง เพื่อใช้ในการดำเนินการตามข้อกำหนด และเงื่อนไขในสัญญาฉบับนี้ อุปกรณ์ที่บริษัทจัดหามาภายหลังการส่งมอบทรัพย์สินตามวรรคแรก เพื่อใช้เกี่ยวกับการให้บริการวงจรดาวเทียมตามสัญญานี้ จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่เป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง ทั้งนี้ บริษัทยอมให้อุปกรณ์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบให้บริษัทครอบครองไว้เพื่อใช้ดำเนินกิจการเช่นเดียวกับวรรคแรก และ ข้อ 27 การใช้วงจรดาวเทียมโดยไม่เสียค่าตอบแทน บริษัทตกลงให้กระทรวง หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบ ใช้วงจรดาวเทียมแบบ นัน พรีเอ็นติเบิล ทรานส์พอนเดอร์ ของดาวเทียมที่บริษัทจัดตั้งขึ้น ซึ่งใช้เป็นดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองในย่านความถี่ซีแบนด์ จำนวนหนึ่ง วงจรดาวเทียมทรานส์พอนเดอร์ ตลอดอายุสัญญานี้ โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใดๆ แก่บริษัท ทั้งนี้ กระทรวง ส่วนราชการ หรือหน่วยงานดังกล่าว จะไม่นำวงจรดาวเทียมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งไม่ปรากฏว่ากระทรวง ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบ มีสิทธิ์ที่จะใช้ในย่านความถี่เคยูแบนด์ ซึ่งได้ระบุไว้ในข้อ 6 ในเรื่องคุณสมบัติของดาวเทียมด้วย นอกจากข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในส่วนของข้อเท็จจริงสำหรับกรณีการอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้ส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศ เพื่อให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 นั้น ในการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้จัดสร้างและจัดส่งโดยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงคมนาคม ตามสัญญาสัมปทาน ปรากฏว่า วันที่ 17 ธันวาคม 2536 ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือดาวเทียมไทยคม 1 วันที่ 7 ตุลาคม 2537 ได้จัดส่งดาวเทียมสำรอง คือดาวเทียมไทยคม 2 และวันที่ 16 เมษายน 2540 ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือดาวเทียมไทยคม 3 ปรากฏตามเอกสาร หมาย ร 442 และกระทรวงคมนาคม ซึ่งดูแลโครงการดาวเทียมอยู่ในขณะนั้น ได้อนุมัติให้มีการจัดสร้างดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ที่จะจัดส่งขึ้นสู่อวกาศต่อไป คือดาวเทียมไทยคม 4 แต่เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องจัดส่งขึ้นสู่อวกาศนั้น บริษัทผู้รับสัมปทานได้ขอเลื่อนกำหนดหลายครั้ง ซึ่งต่อมาบริษัทผู้รับสัมปทานก็ได้ขอแก้กำหนดทางด้านเทคนิค โดยขอเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเทียมสำรอง คือดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ก็ได้มีการจัดส่งดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศในวงโคจร เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร 442 ร 443 ร 510 ร 519 ร 521 ร 522 และ ร 518 ในเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าว ตามข้อกำหนดประกาศแข่งขันสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศไว้อย่างชัดเจน และกำหนดให้มีดาวเทียมหลัก และระบบดาวเทียมสำรอง แต่ในส่วนของระบบดาวเทียมสำรองนั้น ไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นระบบเช่า หรือสร้างอยู่ที่พื้นโลก หรือส่งขึ้นบนอวกาศ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 490- ร 492 ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาในขณะนั้น ที่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะประธานบริษัทชินคอร์ปในขณะนั้น ได้เข้าร่วมแข่งขันรับสัมปทานกับเอกชนรายอื่นๆ และเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด กระทรวงคมนาคมจึงเชิญเข้าร่วมเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น รวมถึงประเด็นดาวเทียมสำรอง ซึ่งข้อเสนอเดิมในการยื่นแข่งขันเพื่อรับสัมปทานระยะเวลา 30 ปีนั้น บางช่วงจะเป็นระบบเช่า โดยเช่าจากดาวเทียมประเทศอื่นเพื่อเป็นระบบสำรอง บางช่วงจะมีการสร้างไว้ที่ภาคพื้นดิน และอีกบางช่วงจะสร้างและส่งขึ้นสู่อวกาศ แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมเจรจาด้วยตนเอง ในการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอครั้งที่ 9/2533 ในวันที่ 27 ธันวาคม 2533 ได้มีการเสนอเพิ่มเติมว่า จะลงทุนมากขึ้นโดยตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะสร้างและส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศ ตลอดระยะเวลา ห่างจากดาวเทียมหลักไม่เกิน 12 เดือน ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสาร หมาย ร 474 ซึ่งต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือที่ ชว 001/2534 ลงวันที่ 2 มกราคม 2534 และที่ ชว 439/2534 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 เอกสารหมาย ร 460 ยืนยันข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อเสนอดังกล่าวนั้นเป็นข้อเสนอที่ทำให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติออุมัติให้บริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทาน และมีการลงนามในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 กันยายน 2534 โดยระบุเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงาน คุณสมบัติของดาวเทียม ระบบดาวเทียมสำรอง และการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากระทรวงคมนาคมก่อน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของสัญญาสัมปทาน ส่วนการที่จะนำวงจรดาวเทียมที่เหลือใช้จากประเทศไปให้ต่างประเทศใช้บริการ ต้องอยู่ภทายใต้ความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคม ตามที่ระบุไว้ในข้อ 13 ของสัญญาสัมปทาน หรือเอกสารหลัก ซึ่งจะมีเอกสารต่างๆ แนบท้ายไว้ โดยเฉพาะแผนดำเนินการนั้นได้ระบุรายละเอียดไว้ว่า ตามสัญญาระยะเวลาสัญญา 30 ปี จะส่งดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง จำนวน 2 ชุด แต่ละชุดมีดาวเทียม 2 ดวง รวมดาวเทียมทั้งหมด 4 ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองจะส่งขึ้นสู่อวกาศ มีระยะเวลาห่างจากส่งดาวเทียมหลักไม่เกิน 12 เดือน สำหรับการที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น ก็ได้ร้องขอโดยให้เป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม ปรากฏตามหนังสือที่ ชช (ส) 010 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 3 กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ศึกษาข้อมูลทางเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์ กรมไปรษณีย์โทรเลขเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมสำรองที่จะจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม 4 แต่อย่างใด ปรากฏตามหนังสือที่ กค 0704 (ปว/14221) ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 เอกสารหมาย ร 514 และเมื่อนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้าสู่ทีประชุมคณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ที่แต่งตั้งขึ้นตามสัญญาสัมปทานในคราวพิจารณาโครงการดาวเทียม ไอพีสตาร์ครั้งที่ 1/2545 ลงวันที่ 29 สิงหาคม/2545 ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ร 513 ที่ประชุมได้มีมติว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานครั้งที่ 2/2545 ลงวันที่ 10 กันยายน 2545 กลับปรากฏตามรายงานการประชุมว่า มีการขอแก้ไขมติครั้งที่ 1/2545 ข้างต้น เป็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงหลักหรือสำรอง ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ต้องมีการทำแผนสำรอง และคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์นั้นต้องไม่ด้อยไปกว่าดาวเทียมดวงอื่น และเป็นไปตามสัญญาแล้ว ซึ่งเท่ากับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองได้ตามที่บริษัทผู้รับสัมปทานร้องขอ และเสนอขออนุมัติโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคม ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 515 ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการประสานงานครั้งที่ 2/2545 ครั้นเมื่อมีการทำหนังสือเสนอขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือที่ คค 0208/สนผ.1863 ลงวันที่ 18 กันยายน 2545 ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ได้มีการอนุมัติปรากฏตามเอกสารหมาย ร509 ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการประสานงานใช้วิธีทำหนังสือเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงาน ปรากฏตามหนังสือที่ คค0208/ว.7386 ลงวันที่ 27 กันยายน 2545 เพื่อขอให้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 2/2545 โดยเป็นการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 1/2545 ด้วย และกำหนดไว้ว่า ขอให้แก้ไขภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2545 โดยมิได้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อลงมติ พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือแจ้งบริษัทไทยคมว่า ได้อนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ปรากฏตามหนังสือที่ คค02084 ลงวันที่ 27 กันยายน 2545 เอกสารหมาย ร 510 เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ตามที่ปรากฏถึงพฤติการณ์ในการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่เป็นการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 บริษัทผู้รับสัมปทานรายนี้ก็ยังได้นำโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ มูลค่า 16,543 ล้านบาท ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นผู้พิจารณา โดยบริษัทผู้รับสัมปทานได้แนบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งระบุว่าได้มีการพัฒนาดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นครั้งแรกของโลก และได้มีการสร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมกับภาคพื้นดิน สำหรับระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศต่างๆ 18 แห่ง มากกว่า 14 ประเทศ โดยมีในประเทศไทย 1 แห่ง และมีแผนการตลาดที่จะจำหน่ายในประเทศไทยเพียงร้อยละ 6 แต่จะจำหน่ายในต่างประเทศ มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 94 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2547 บริษัทผู้รับสัมปทานได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ดังนั้นจากข้อเสนอของผู้ถูกกล่าวหาเอง ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนบริษัทชินคอร์ป ที่ยื่นแข่งขันเพื่อเข้ารับสัมปทาน รวมทั้งเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้รับสัมปทานด้วยวาจาและทำหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นตลอดอายุสัญญา และจะส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่วงโคจร เพื่อเป็นการสำรองดาวเทียมดวงหลัก และมีระยะเวลาห่างจากดวงแรกไม่เกิน 12 เดือน อยู่คู่กันเพื่อให้ใช้งานได้โดยต่อเนื่อง จึงได้ระบุระบบดาวเทียมสำรองไว้ในสัญญาสัมปทาน ข้อที่ 5.1.4 ข้อ 6 และข้อ 7 ดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณย่านความถี่ซีแบนด์ จำนวน 25 ทรานส์พอนเดอร์ และเคยูแบนด์ 14 ทรานส์พอนเดอร์ โดยเฉพาะข้อ 27 ได้ระบุให้กระทรวงคมนาคม หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบ ใช้วงจรดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองเฉพาะแต่ในย่านความถี่ซีแบนด์จำนวน 1 วงจรดาวเทียม ได้ตลอดอายุสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใดๆ แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไอพีสตาร์มีคุณสมบัติทางเทคนิค พัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลก ตามที่จดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ย่านความถี่เคยูแบนด์ รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอตบีม 84 บีม เชพบีม 3 บีม และบรอดคาสต์บีม 7 บีม และใช้ย่านความถี่เคเอแบนด์ในการสื่อสารรับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดิน กับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ไม่มีย่านความถี่ซีแบนด์ที่จะให้กระทรวงคมนาคมใช้จำนวน 1 วงจรดาวเทียมได้ตลอดอายุสัญญา โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และไม่มีข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อทดแทน ทั้งที่ดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณย่านความถี่ซีแบนด์ และเคยูแบนด์ จึงเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ดวงต่อดวง ได้ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ากรมไปรษณีย์โทรเลข ได้พิจารณาคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว เห็นว่าดาวเทียมหลักดวงใหม่ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ตามหนังสือที่ คค0704 (ปว)/14221 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 หากดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ บริษัทไทยคมก็จะต้องจัดสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์อีก 1 ดวง ตามสัญญาสัมปทานข้อ 5.1.1 ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์อีก 1 ดวง ประกอบกับในคราวพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ของคณะกรรมการประสานงาน ตามสัญญาสัมปทานครั้งที่ 1/2545 วันที่ 29 สิงหาคม 2545 มีการลงมติว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุม โดยอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามผลการประชุมของคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทานครั้งที่ 2/2545 วันที่ 10 กันยายน 2545 จึงขัดแย้งกัน ต่อมาได้มีการเสนอความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ยังไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมทั้ง 2 ครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมสำรองตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 โดยปรากฏว่าในภายหลังได้มีการจัดทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการประสานงานแต่ละท่านรับรองรายงานการประชุมทั้ง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 เช่นนี้ เมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมหลัก คือดาวเทียมไทยคม 3 ได้ ทำให้ความมั่นคงในการสือสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหายจากการที่ไม่มีดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ได้ทั้งดวง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทาน คือบริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระที่จะต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน โดยการกู้ยืมเงินเพื่อเพิ่มทุน เพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม 4 เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างดาวเทียมไทยคม 3 ตามเอกสารการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน และในทางกลับกัน ภาครัฐก็ต้องเสียหายจากการที่ไม่ได้รับมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทาน คือดาวเทียมไทยคม 4 มูลค่า 4,000 ล้านบาท เช่นกัน นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นโครงการที่ได้ให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก ดังทื่ปรากฏจากคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ ที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ยื่นประกอบการ ยื่นคำร้องขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 501 ที่ได้ระบุถึงแหล่งหารายได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งหวังทางการค้าและรับรองการใช้งานอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศ โดยได้มีการลงทุนสร้างอุปกรณ์เชื่อมต่อ (gateway) ในประเทศต่างๆ 18 แห่ง รวมกว่า 14 ประเทศ แต่สร้างไว้ในประเทศไทยเพียง 1 แห่งเท่านั้น ส่วนแผนการจำหน่ายระบุไว้ในการจำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ 94 แต่จำหน่ายในประเทศเพียงอัตราร้อยละ 6 จึงเห็นได้ว่าส่วนที่จำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ 94 ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ส่วนที่เหลือใช้จากอัตราร้อยละ 6 ที่ใช้ในประเทศตามข้อสัญญาสัมปทาน โดยส่วนที่ใช้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่นั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากส่วนที่ใช้ในประเทศ ดังนั้นดาวเทียมไอพีสตาร์จึงเป็นดาวเทียมหลักที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน และเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบแห่งสัญญาที่ว่า จะใช้เพื่อเป็นดาวเทียมสำหรับสื่อสารภายในประเทศ และหากเหลือใช้จึงจะให้ต่างประเทศใช้บริการได้ ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขข้อกำหนดการเข้ารับสัมปทาน ซึ่งได้ระบุไว้ในบทนำและข้อ 13 ของสัญญาสัมปทาน ทั้งพ้นระยะเวลาคุ้มครองสิทธิ์ผูกขาดที่กระทรวงคมนาคม ผู้ให้สัมปทานจะไม่ให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินกิจการแข่งขันกับบริษัทผู้รับสัมปทาน มีกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามสัญญาข้อ 2 จึงต้องถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทาน และจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงาน และอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ตามกระบวนการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วม หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น การที่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ได้ร้องขอและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลควบคุม ตรวจสอบ ของผู้ถูกกล่าวหา ได้พิจารณาอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ว่า อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทาน จึงเป็นการอนุมัติให้บริษัทไทยคมของผู้ถูกกล่าวหาได้สัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันกัน ซึ่งหากมีการขอรับสัมปทานโดยเปิดให้มีการประมูลแข่งขันกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม โดยให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้มีโอกาสยื่นข้อเสนอเพื่อแข่งขันกัน ก็จะมีมูลค่าโครงการเป็นเงินถึง 16,543,800,000 บาท เป็นรายได้เข้ารัฐ ดังนั้นการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 6 ได้อนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 498 การอนุมัติให้แก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิคของดาวเทียมสำรอง คือดาวเทียมไทยคม 4 โดยอนุมัติให้เปลี่ยนคุณสมบัติเป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ในส่วนการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 โดยมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จากที่บริษัมชินคอร์ปต้องมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทไทยคมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 40 นั้น ในเบื้องต้นเห็นว่าตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ครั้งที่ 1 ข้อ 1 ระบุว่า บริษัทชินคอร์ป ตกลงที่จะดำเนินการให้บริษัทใหม่ (บริษัทไทยคม) ลงทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และบริษัทจะต้องถือหุ้นในบริษัทใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตลอดอายุสัญญาของสัญญาหลัก การขออนุมัติแก้ไขสัญญาเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จึงเป็นกรณีที่บริษัทชินคอร์ปต้องดำเนินการขออนุมัติเอง การที่บริษัทไทยคมยื่นหนังสือต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ในบริษัทไทยคม และนำส่งข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทชิคอร์ป ประสงค์จะลดสัดส่วนการถือหุ้น จนต่อมารัฐมนตรีว่การกระทรวงเทคโนโบยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก้ไขสัญญาแล้ว บริษัทชินคอร์ปซึ่งได้รับประโยชน์จากการอนุมัติให้แก้ไขสัญญา ได้เข้าทำการสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ครั้งที่ 5 ที่ยอมให้บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในบริษัทไทยคมไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เท่ากับบริษัทชินคอร์ปเปิดโอกาสให้บริษัทไทยคมเป็นตัวแทนการที่บริษัทไทยคมขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคม จึงเป็นการกระทำในนามของบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นตัวการ โดยที่ปรากฏว่า ตามที่ได้มีข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร 449 ข้อ 4 การจัดตั้งบริษัทใหม่เข้าดำเนินการ บริษัทต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นเพื่อดำเนินงานตามสัญญานี้ โดยบริษัทต้องดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 12 เดือน นับจากวันเริ่มให้บริการวงจรดาวเทียมตามสัญญานี้ และให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ ตลอดอายุสัญญาด้วย คือ 4.1 บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท 4.2 บริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขั้นใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 4.3 บริษัทต้องดำเนินการให้บริษัทที่จัดตั้งใหม่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้ ต่อกระทรวง ร่วมกัน และแทนกันกับบริษัท ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้ความว่า บริษัทที่บริษัทชินคอร์ป ผู้รับสัมปทานได้จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามสัญญาสัมปทานก็คือบริษัทไทยคม เพื่อบริหารโครงการ และได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 1 เพื่อให้บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม รับผิดร่วมกันและแทนกัน โดยทำเป็นสัญญา 3 ฝ่าย โดยฝ่ายผู้รับสัมปทาน มีบริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ได้ลงนามร่วมกัน ต่อมาบริษัทไทยคมได้ร้องขออนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน ให้เหตุผลว่า ต้องใช้เงินลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นจำนวนสูงมาก จึงจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมเพื่อร่วมลงทุน จึงทำให้จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นปรากฏตามหน้งสือที่ ชช.(ส) 133/2546 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2546 ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 534 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งรับโอนงานจากกระทรวงคมนาคมตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ ได้ทำหนังสือหารือกรณีการขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ที่จะต้องถือหุ้นในบริษัทไทยคม ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบหนังสือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมา โดยมีข้อสังเกตว่า เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา อันเป็นที่มาขอการอนุมัติสัมปทานโครงการนี้ โดยคณะรัฐมนตรีจึงควรที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาก่อนลงนามในการแก้ไขสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 531 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเรื่อดังกล่าว แต่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องคืน โดยแจ้งว่า ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของเรื่องที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 530 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีหนังสือหารือกรณีการส่งเรื่องคืนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบหนังสือหารือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่าเมือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาได้ ปรากฏตามหนังสือที่ อส 0017/16522 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2547 ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้ความจากบันทึกถ้อยคำของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ที่ให้ไว้ต่อคณะออนุกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ว่า ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยจำได้ว่า ได้มีการทำบันทึกเสนอจากเจ้าหน้าที่ แต่ตนเองเห็นว่าไม่สมควร เนื่องจากสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศที่ทำกันขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 นายกรัฐมนตรี เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ประกอบกับบันทึกเสนอเรื่องไม่ชัดเจนว่าขออนุมัติอะไร จึงไม่มีการลงนามในบันทึกที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาให้ และให้ถอนเรื่องคืนไป และว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่เคยมาชี้แจงด้วยวาจา และตนเห็นว่าสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงไม่เหมาะสมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเมื่อรัฐมนตรีโทรศัพท์มาตามเรื่อง ก็ได้อธิบายเหตุผลให้ฟัง รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การของพยาน เอกสารหมาย ร 403 ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2547 นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานในเรื่องดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือที่ ทก0204.3/816 ลงวันที่ 14 ตุลคม 2547 โดยมีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ปรากฏตามเอกสารหมาย ร 529 โดยที่การแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นั้น ไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด เห็นว่า การที่มีการกำหนดเรื่องการถือครองหุ้นสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ไว้ในข้อที่ 4 ของสัญญาสัมปทานนั้น เป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาได้รับสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วนข้างต้น โดยนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ โดยที่ไมได้นำเสนอต่อคณะรัฐมตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป ผู้รับสัมปทาน เนื่องจากในกรณีที่บริษัทไทยคมทำการเพิ่มทุน เพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงจำนวน 16,543,800,000 บาทนั้น บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคม จึงไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อหุ้น เพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง ดังจะเห็นได้ว่า ในวันที่ 7 มกราคม 2547 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 บริษัทไทยคมได้ทำการเพิ่มทุน แต่บริษัทชินคอร์ปไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น 84,706,801 หุ้น เป็นเงิน 1,296,014,055 บาท แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงประมาณร้อยละ 11 ดังกล่าว ย่อมเป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปได้รับเงินลงทุนคืนจากการโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวนดังกล่าวออกไป ให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นด้วย ทั้งการลดสัดส่วนดังกล่าวมีผลเป็นการลดทอนความเชื่อมั่น และความมั่นใจในการดำเนินการโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ป ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในบริษัทไทยคม ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียม ตามสัญญาสัมปทาน แม้ว่าบริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม จะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าวก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคม จึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐ โดยไม่สมควร สำหรับกรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศ เมื่อดาวเทียมไทยคม 3 เกิดเสียหายนั้น ปรากฏตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร 449 ข้อ 25 การประกันภัยทรัพย์สินตลอดระยะเวลาที่สัญญายังมีผลบังคับอยู่ ข้อ 25.1 บริษัทต้องเอาประกันภัยประเภทคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดต่อทรัพย์สินในข้อ 5 และทรัพย์สินที่เพิ่ม ตามข้อ 15 ที่บริษัทโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงแล้วเต็มมูลค่าของทรัพย์นั้นๆ โดยเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยและเงื่อนไขการประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจดาวเทียมในลักษณะเดียวกันใช้อยู่ โดยให้กระทรวงผู้รับประโยชน์ร่วม และบริษัทเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ข้อ 25.2 การส่งมอบกรมการประกันภัยตามวรรแรก หรือที่เพิ่มเติม ให้กระทรวงภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บริษัทเอาประกันภัยในแต่ละปี หรือวันที่เอาประกันภัยเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ทั้งนี้กระทรวงยินยอมให้บริษัทเป็นผู้เจรจาต่อรองค่าเสียหาย และความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามกรมการประกันภัยดังกล่าว โดยความเห็นชอบของกระทรวง และบริษัทจะต้องแจ้งผลการเจรจาให้กระทรวงทราบเป็นระยะโดยทันที และข้อ 37 การจัดการทรัพย์สินที่สูญหาย และเสียหายหรือสูญหาย เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามข้อ 5 หรือข้อ 15 หรือทรัพย์สินดังกล่าวสูญหายไป บริษัทจะต้องเร่งซ่อมแซงทรัพย์สินที่เสียหาย หรือจัดการหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันที เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงจะมอบเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย ตามข้อ 25 ให้บริษัท และถ้าค่าซ่อมแซมหรือราคาทรัพย์สินที่จัดการมีค่าราคาสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทน บริษัทตกลงเป็นผู้รับผิดชอบเงินจำนวนที่เพิ่มขึ้นและทั้งหมด วรรค 2 ในกรณีจัดหาทรัพย์สินทดแทนให้นำความในข้อ 15 ในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ และการส่งมอบ รับมอบทรัพย์สินมาใช้บังคับในกรณีนี้ด้วย และวรรค 3 การจัดหาทรัพย์สินทดแทนดังกล่าวในวรรคแรก บริษัทต้องจัดหาทดแทนให้สามารถดำเนินการตามสัญญาได้โดยต่อเนื่อง แม้บริษัทจะพิจารณาเห็นว่าการลงทุนจัดหาทรัพย์สินทดแทนดังกล่าว ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงานตามสัญญาที่เหลืออยู่ จะไม่คุ้มกับการลงทุนก็ตาม ซึ่งบริษัทอาจเสนอขอให้กระทรวงพิจารณาขยายเวลาสัญญาออกไป นอกจากข้อกฎหมายที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในส่วนข้อเท็จจริงนั้นก็ปรากฏว่า ในคราวที่บริษัทไทยคมได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยร้องขอเป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 ซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศปี 2547 นั้น ได้มีการอนุมีติแผนสำรองของดาวเทียมไทยคม 3ด้วย หากเกิดกรณีเสียหาย ครั้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 ได้เกิดเหตุดาวเทียมไทยคม 3 เสียหายขัดข้อง เกี่ยวกับระบบพลังงานบางส่วน ต่อมาบริษัทไทยคมได้เจรจากับบริษัทประกันภัย ปรากฏว่า ดาวเทียมไทยคม 3 เสียหายเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีบางส่วนใช้งานได้ และได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้ว ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 33,028,960 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบริษัทไทยคมได้ขออนุมัติสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ปรากฏตามหนังสือที่ ชช(ส) 065/2546 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 และต่อมาได้ร้องขออนุมัตินำเงินประมาณ 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม จากต่างประเทศ เพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญาณสำรอง ปรากฏตามหนังสือที่ ชช(ส) 71/2546 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2546 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อนุมัติให้บริษัทไทยคมนำเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศเพื่อทดแทนและสำรอง และอีกส่วนหนึ่งจำนวน 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปสร้างดาวเทียมวงใหม่ทดแทน ชื่อว่าดาวเทียมไทยคม 5 หรือ 3 อาร์ โดยหากค่าสูงกว่า ให้บริษัทไทยคมรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อนุมัติในเรื่องดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือที่ อช 409/2546 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546

ที่มา : โดยทีมงาน “Breaking News” ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028195

ไม่มีความคิดเห็น: