วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ ตอน 3

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบรายงานการไต่สวนของ คตส. และที่คู่ความไม่โต้เถียงกัน ฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภรรยาของผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นน้องของผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นพี่ชายของผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนผู้คัดค้านที่ 6 เป็นภรรยาของผู้คัดค้านที่ 5 ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ชื่อไทยรักไทย ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2548 พรรคไทยรักไทยได้ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 248 ที่นั่ง และ 375 ที่นั่ง ตามลำดับ จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือก ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวม 2 สมัย ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 9 มีนาคม 2548 ตามลำดับ บริษัท ชินคอร์ป บริษัท เอไอเอส บริษัท ดีพีซี และบริษัท ไทยคม เป็นนิติบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท เอไอเอส และบริษัท ไทยคม ส่วนบริษัท เอไอเอส เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในบริษัท ดีพีซี ทั้งต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานโครงการของรัฐ โดยบริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2534 โดยบริษัทไทยคม เป็นผู้บริหารโครงการตามสัญญา บริษัท เอไอเอสดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยได้รับอนุญาตจาก ทศท ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ส่วนบริษัท ดีพีซี เป็นผู้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ โดยได้รับอนุญาตจาก กสท ตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ 1800 ฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 เดิมผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 5 ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 32,920,000 หุ้น จำนวน 34,650,000 หุ้น และจำนวน 6,847,395 หุ้น ตามลำดับ เมื่อปี พ.ศ.2542 ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 5 ต่างใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน เมื่อรวมกับหุ้นที่ถืออยู่เดิมแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นจำนวน 65,840,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 69,300,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นจำนวน 13,618,030 หุ้น เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 มีการจดทะเบียนตั้งบริษัท แอมเพิลริช ตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 50,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เรียกชำระค่าหุ้นเพียง 1 หุ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และมีนายเลา วี เตียง เป็นกรรมการผู้เดียว วันที่ 7 มิถุนายน 2542 บริษัท แอมเพิลริช ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มิได้มีการเรียกเก็บชำระค่าหุ้นเพิ่ม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนของผู้ถูกกล่าวหาให้แก่บริษัท แอมเพิลริช จำนวน 32,920,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท โดยผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แทนบริษัทแอมเพิลริช กับจัดให้นางกาญจนา หงษ์เหิน เข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัท แอมเพิลริช ในวันเดียวกัน ต่อมาผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รายงานตามแบบ 246-2 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ต่างโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปที่ถืออยู่ทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 โดยผู้ถูกกล่าวหาขายหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 30,920,000 หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 2 ล้านหุ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 42,475,000 หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 26,825,000 หุ้น ต่อมาบริษัท ชินคอร์ป ได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท และยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้รายงานตามแบบ 246-2 ว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545 และวันที่ 17 พฤษภาคม 2546 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 367 ล้านหุ้น และจำนวน 73 ล้านหุ้น ตามลำดับ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ในราคาหุ้นละ 1 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และบริษัท แอมเพิลริช ได้รายงานตามแบบ 246-2 ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 บริษัทแอมเพิลริช โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่ถืออยู่จำนวน 329,200,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ณ วันดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีชื่อถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป รวมกันเป็นจำนวน 1,419,490,150 หุ้น ระหว่างมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2548 ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 และบริษัท แอมเพิลริช ต่างได้รับเงินปันผลค่าหุ้นจากบริษัท ชินคอร์ป โดยผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับ 1,461,447,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับ 2,105,550,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 4 ได้รับ 97,200,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 5 ได้รับ 1,634,613,129 บาท และบริษัท แอมเพิลริช ได้รับ 1,599,912,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,898,722,129 บาท ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2549 หุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ถืออยู่จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ได้ขายให้แก่บริษัท ซีดาร์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วได้เงินสุทธิ 69,722,880,932.05 บาท ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่งตั้ง คตส.ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ และตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่า เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต่อมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทศท ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อ คตส.เพื่อขอให้ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจการโทรคมนาคมของชาติ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่เป็นกิจการของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา คตส.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งกลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ดำเนินการแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูล คตส.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดทางกฎหมาย เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ในส่วนของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ในกิจการโทรคมนาคม และเรื่องอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเอง ครอบครัว หรือพวกพ้อง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่าประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นกรณีที่ทำให้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และระหว่างการตรวจสอบ ไต่สวน คตส.มีมติว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 22 หลายรายการ รวมเป็นเงิน 66,762,927,024.25 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 22 ต่างยื่นคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สิน และคัดค้านการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว คตส.พิจารณาแล้วมีมติให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 ที่ 14 ที่ 17 และที่ 19 คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนและเสนอรายงานการไต่สวน พร้อมความเห็นต่อ คตส.ว่า ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป โดยให้ผู้อื่นถือแทน และระหว่างผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท ชินคอร์ป บริษัท ไทยคม บริษัท เอเอเอส มีสิทธิ์ดำเนินการในกิจการต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต และเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้วงเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลสหภาพพม่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัว คตส.ได้ร่วมประชุมพิจารณารายงานการไต่สวนดังกล่าวแล้ว เห็นว่าระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 100 208 209 291 และมาตรา 292 พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 5 และมาตรา 6 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32 33 และมาตรา 100 ซึ่งมีความผิดอาญาตามมาตรา 119 และมาตรา 122 ทั้งผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การบังคับบัญชาหรือดูแลของผู้ถูกกล่าวหา กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทในเครือ เป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก เป็นจำนวนเงินสุทธิ 69,722,880,932.05 บาท และตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ถึงปี 2548 บริษัท ชินคอร์ป ได้จ่ายเงินปันผลให้รวม 6,898,722,129 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ กับมีมติให้ส่งรายงานเอกสารพร้อมทั้งความเห็น ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ การวินิจฉัยปัญหาตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้าน ตามประเด็นที่ได้โต้แย้งมาเป็นลำดับ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ ศาลเห็นว่าประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 กำหนดให้ คตส.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบ โดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง โดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ (2) ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ (3) ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ (4) ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบ มีอำนาจสั่งยึดหรือายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรส และบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศนี้ นอกจากอำนาจตามวรรค 1 ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะกรรมการธุรกรรม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประมวลรัษฎากร โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร เฉพาะที่เกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการดำเนินการตามวรรค 1 วรรค 2 และวรรค 3 คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด และให้มีอำนาจเรียกสำนวนหรือเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือเรียกสำนวนการสอบสน หรือการตรวจสอบ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ถ้ามี) มาพิจารณา และให้ใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเรื่องเดียวกันอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือคณะกรรมการธุรกรรม ให้ประสานงานเพื่อดำเนินการตามควรแก่กรณี นอกจากนี้ ข้อ 9 ยังวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ คตส.มีมติและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือบุคคลใด กระทำผิดต่อหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็น ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่า บุคคลใดกระทำผิดกฎหมาย และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยให้ถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวตามกฎหมายนั้น ส่วนอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และ (4) ดังนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมายอื่น (4) คดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ ตกเป็นของแผ่นดิน คดีนี้ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และมีคำขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหา ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 9 และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และ (4) กรณีหาใช่เป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองก่อน ซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ ทั้งมิใช่เป็นการร้องขอให้วินิจฉัยถอดถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 110 208 และ 209 ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญดังที่ผู้ถูกกล่าวและผู้คัดค้านอ้างมาไม่ กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องซึ่งอยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะองค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไป มีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้หรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกประกาศฉบับที่ 3 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงถูกยกเลิก และไม่มีผลใช้บังคับกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำมาแล้ว ก่อนที่จะมีการยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งศาลจะใช้ตัวย่อต่อไปในการวินิจฉัย ยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้ว ก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลทั้งหลายนั้น นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอัตถคดีตามบทกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าบรรดาบทบัญญัติกฎหมายต่างๆ ซึ่งได้ตราขึ้นและมีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะที่มีการยึดอำนาจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปด้วยแต่ประการใดไม่ ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 บัญญัติให้ตราขึ้นใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อมีการตราขึ้นใช้บังคับโดยชอบแล้ว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีสถานะเทียบเท่า พ.ร.บ.ทั่วไป กล่าวคือ หากไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ย่อมมีความสมบูรณ์ และยังคงดำรงความเป็นกฎหมายอยู่ในตัวเอง สามารถนำไปใช้บังคับใช้แก่กรณีต่างๆ โดยหาจำต้องอาศัยความดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จึงไม่มีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ในคำคัดค้านว่า คตส.และคณะอนุกรรมการไม่มีอำนาจตรวจสอบไต่สวน และกระบวนการตรวจสอบไต่สวนกระทำนอกขอบอำนาจของประกาศ คปค. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลได้นั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 ให้อำนาจ คตส.ในการตรวจสอบการดำเนินงาน หรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบ โดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวยังให้ คตส.มีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่น อันเป็นการเปิดกว้างให้ คตส.มีอำนาจตรวจสอบได้ทุกเรื่องที่เห็นควรตรวจสอบ ดังนั้น ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 จึงเป็นประกาศที่ให้อำนาจ คตส.ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยมิได้จำกัดให้การตรวจสอบเฉพาะคณะรัฐมตนตรี คณะใดคณะหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การตรวจสอบไต่สวนของ คตส.ในคดีนี้ จึงเป็นการดำเนินการภายในขอบอำนาจตามประกาศ คปค.ที่ให้อำนาจไว้แล้ว ส่วนกรณีที่ คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาคดีอาญา เป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่าการกล่าวหากรณีนี้ คตส.ใช้อำนาจตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตามข้อ 10 ซึ่งตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส.013/2505 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ระบุชัดเจนว่า ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมและเรื่องอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนและครอบครัว หรือพวกพ้อง รวมทั้งทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หมวดที่ 6 และหมวดที่ 7 แม้คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้จะเป็นคณะเดียวกันกับคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาคดีอาญา ก็ไม่ต้องห้ามตามประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าว หรือระเบียบอื่นใด และที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านอ้างว่า คตส.ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลาที่กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกตินั้น ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 11 วรรค 1 ได้กำหนดกรอบเวลาในการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และข้อ 11 วรรค 2 ยังบัญญัติว่า เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรค 1 และการตรวจสอบ หรือการสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งสำนวนสอบสวนคืนให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี แต่ต่อมามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรค 2 ของข้อ 11 ของประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรค 2 แต่การตรวจสอบเรื่องการสอบสวนเรื่องใดที่ดำเนินการอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2551 และยังมีมาตรา 5 เพิ่มเติมความต่อไปนี้เป็นวรรค 3 ของข้อ 11 ของประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบ ดำเนินการเรื่องใดตามวรรค 2 ไม่แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2551 ให้คณะกรรมการตรวจสอบ ส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี และถือว่าการดำเนินการสอบสวน การตรวจสอบ และผลการตรวจสอบ ที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการแล้ว เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นดังกล่าว แล้วแต่กรณี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนการไต่สวนของ คตส.ว่า คตส.ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 หลังจากนั้น คตส.ได้ส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้นให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ กรณีจึงถือได้ว่า คตส.ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในกรอบเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาและฝ่ายผู้คัดค้านอ้างว่า คตส.ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลา 2 ปี เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 75 วรรค 2 นั้น เห็นว่ากรณีการกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเมื่อพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี ตามมาตรา 75 วรรค 2 ดังกล่าวนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติขึ้นให้สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ปฏิบัติในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 75 วรรค 2 จะนำมาบังคับใช้แก่กรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของ คตส. ที่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดั่งที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นไม่ได้ ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาและฝ่ายผู้คัดค้าน ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นประกาศของ คปค.ฉบับที่ 30 ที่ให้อำนาจ คตส.ในการตรวจสอบการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ คตส.ได้ดำเนินการไต่สวนภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 11 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 การตรวจสอบในกรณีกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว ส่วนข้ออ้างที่ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนจำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และการนำพยานเข้าไต่สวนโดยมิชอบนั้น เห็นว่า การกำหนดเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้น ระเบียบของคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.2549 ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 15 และ ข้อ 16 กำหนดให้คณะอนุกรรมการไต่สวนให้โอกาสแก้ผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และนำสืบแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาอันสมควร แต่อย่างช้าไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อกล่าวหา ในกรณีที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า พยานหลักฐานใดที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวหา หรือเป็นการประวิงให้ชักช้า คณะอนุกรรมการไต่สวนจะไม่ทำการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการให้คณะอนุกรรมการไต่สวนใช้ดุลพินิจได้ตามสมควรแก่พฤติการในแต่ละกรณี ข้อนี้ได้ความว่า ในส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น คตส.ได้มีมติให้ดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหา และได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกกล่าวหารับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไป เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ผู้ถูกกล่าวหาได้แยกดำเนินการในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และยังทำคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินยื่นต่อ คตส.อีกด้วย ในส่วนของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหา ได้มีหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปเป็นเวลา 60 วัน รวม 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 2 ได้ขอใช้สิทธิ์ตรวจสอบพยานหลักฐาน และเอกสาร ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้มีมติให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ 30 วัน ส่วนที่ขอตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารนั้น ได้มีมติให้ผู้ขอตรวจสอบแจ้งว่า ต้องการตรวจสอบหลักฐานเรื่องใด เพื่อจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งต่อไป ซึ่งผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหา ได้ขอตรวจสอบพยานหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 10/2551 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 มีมติให้ยกคำร้อง ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ผู้รับมอบอำนาจขอผู้ถูกกล่าวหา มีหนังสือขอให้เพิกถอนคำสั่งการขอใช้สิทธิ์ตรวจเอกสาร คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 11/2551 วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน มีมติยืนยันตามมติเดิม และผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ลงวันที่ 6 มีนาคม 2551 ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งแนบบัญชีรายชื่อพยานบุคคล พยานเอกสาร ภายในเวลาที่กำหนด แต่ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหา ได้ทำหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 อีก โดยขอระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 และขอให้ออกหมายเรียกพยานเอกสาร ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 15/2551 วันที่ 31 มีนาคม ปีเดียวกัน เห็นว่าเป็นเอกสารที่คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอยู่แล้ว และเอกสารบางส่วนที่อ้างก็สามารถตรวจสอบได้จากคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดตรวจภาษีชินคอร์ป จึงให้ยกคำร้องขอดังกล่าวทั้งหมด ในส่วนการยื่นคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สิน ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 โดยอ้างพยานบุคคลมาท้ายคำร้องด้วย ในการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 12, 19 และ 26 ตุลาคม 2550 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนการพิจารณาคำร้องออกไปอีก โดยอ้างว่า พยานเอกสารที่สำคัญและจำเป็น อยู่ในความครอบครองของทางราชการ และบุคคลภายนอก จึงยังไม่ได้มา และขอให้หมายเรียกเอกสาร กับขอให้ยกเลิกวันนัดในวันที่ 19 ที่ได้นัดไว้แล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ อนุญาตให้เลื่อนนัด และให้นัดเพิ่มเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ตามที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีวันว่าง ต่อมาในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัด โดยอ้างว่าขอถ่ายเอกสารจากหน่วยราชการแล้วแต่ยังไม่ได้รับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์ อนุญาตให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 แต่เมื่อถึงวันที่ 27 ดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดและกำหนดวันนัดใหม่อีก โดยอ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารเนื่องจากต้องดำเนินการมอบอำนาจใหม่ ให้มีการเลื่อนนัดออกไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ตามวันว่างของผู้ถูกกล่าวหา และให้นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานเอกสาร วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ครั้นถึงวันนัดตรวจพยานเอกสาร ผู้ถูกกล่าวหาขอให้เรียกพยานเอกสารจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ เห็นว่าเอกสารเป็นเอกสารที่ คตส.มีอยู่แล้ว จึงให้มาตรวจดูก่อน และกำชับให้ผู้ถูกกล่าวหาตั้งคำถามพยานล่วงหน้า 3 วัน กับให้เตรียมพยานมาให้พร้อมในวันนัด แต่เมื่อถึงวันนัด ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 พยานที่เรียกมาให้ถ้อยคำ ก็ไม่มา ผู้ถูกกล่าวหาขอให้เลื่อนนัดโดยอ้างว่า พยานจะมาในวันที่ 12 มีนาคม 2551 ครั้นถึงวันนัด สามารถไต่สวนพยานได้เพียงปากเดียว และเลื่อนนัดพิจารณาออกไป หลังจากนั้นมีการไต่สวนพยานตามคำขอของผู้ถูกกล่าวหาต่ออีกหลายนัด จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ผู้ถูกกล่าวหาแถลงขอนำคำให้การของ นางสาวอรัญญา คงเจริญสถาพร ที่เคยให้การในสำนวนคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 2 มาเป็นพยานของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ อนุญาต แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงติดใจขออ้างพยานอีก 8 ปาก และขอนัดเพิ่ม รวม 4 นัด แต่เนื่องจาก คตส.จะหมดวาระการทำงาน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จึงส่งสำนวนพร้อมเอกสารทั้งหมดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ เห็นว่าในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาการตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสาร และการขอตรวจพิสูจน์ทรัพย์สินในชั้นคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์นั้น ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนได้มีการประชุมพิจารณาเป็นลำดับมา และมีมติที่กระทำไปโดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณา ทั้งยังได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เมื่อเห็นได้ว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ก็มีอำนาจที่จะงดการไต่สวนในส่วนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาเสียได้ แม้คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะมีการประวิงการให้การ ทำให้การไต่สวนชักช้า จะไม่ไต่สวนพยานหลักฐานนั้นเสียก่อนก็ย่อมได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบแต่อย่างไรด้วย ในส่วนของการขอพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ ได้ให้โอกาสที่จะนำพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาเข้าไต่สวนพอสมควรแล้ว โดยให้เรียกพยานและอนุญาตให้เลื่อนนัดไปหลายครั้ง ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ หรืออนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหา นำคำให้การพยานบางปากที่เคยให้การไว้อีกสำนวนหนึ่งมาเป็นพยานในสำนวนของผู้ถูกกล่าวหา ตามที่ร้องขอ ตลอดจนส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมเป็นระยะ ตลอดการพิจารณา คำร้องของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งได้รับอนุญาตตลอดมา ถือได้ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ ได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบ ว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.2549 ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยชอบแล้ว ส่วนข้อคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาที่อ้างว่า การแต่งตั้ง นายกล้านรงค์ จันทิก นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวน ที่เป็นปรปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในการตรวจสอบของ คตส. นอกจากอำนาจหน้าที่ที่มีตามประกาศ คปค.แล้ว ยังต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ด้วย กรณีดังกล่าว บุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นอนุกรรมการไต่สวน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 11 ได้แก่ บุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหามาก่อน หรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหา การรู้เห็นเหตุการณ์จำกัดเฉพาะการเป็นผู้มีส่วนรู้เห็น เกี่ยวข้องโดยตรงในเหตุการณ์ หรือพฤติการณ์ที่กล่าวหานั้น เช่น การมีส่วนร่วมในการดำเนินการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาด้านโทรคมนาคมต่างๆ ที่มีการกล่าวหาในคดีนี้ เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่ นายกล้านรงค์ เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เคยกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาในกรณีปกปิดการถือครองหุ้นนั้น กรณีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ นายกล้านรงค์ไปร่วมรับฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นการเข้าร่วมในฐานะผู้รับฟัง ซึ่งเป็นการแสดงออกโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ส่วนการที่เคยให้ข่าวรับว่า เป็นทนายความว่าความให้แก่กลุ่มวุฒิสมาชิก จำนวน 28 คน ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหาสิ้นสุดลง กับการจะไปเข้าร่วมแสดงศาลจำลองโจมตีการบริหารงานของผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นการดำเนินการโดยการใช้ความรู้ความสามารถในวิชาชีพที่ทำได้ แต่ในที่สุดนายกล้านรงค์หาได้ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว หรือกิจกรรรมศาลจำลองแต่อย่างใด ส่วนการกระทำของนายบรรเจิด ตามข้อคัดค้าน เป็นการแสดงออกในฐานะนักวิชาการ และประชาชนคนหนึ่ง มิได้โกรธเคืองเป็นส่วนตัวต่อผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งการยื่นคำร้องต่างๆ ก็เป็นการใช้สิทธิ์ทางกฎหมายในการตรวจสอบการบริหารของรัฐบาล สำหรับการกระทำตามข้อคัดค้านของนายแก้วสรร เป็นการแสดงออกในฐานะวุฒิสภา ที่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย เป็นการดำเนินการตามสิทธิ ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง การขึ้นเวทีปราศรัยและการเขียนหนังสือ ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความชอบธรรมตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองเป็นส่วนตัวกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงกับเรื่องที่กล่าวหา ซึ่งอยู่ในการคัดค้านของอนุกรรมการไต่สวนนี้ คตส.ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.2549 ข้อ 24 และ คตส.ได้พิจารณาคำคัดค้านให้แล้ว โดยเห็นว่าอนุกรรมการไต่สวนที่ถูกคัดค้านไม่มีพฤติการณ์ หรือเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 11 อันเป็นปรปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหา และมีมติให้ยกคำคัดค้าน พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณาคำคัดค้านให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ส่วนในการพิจารณาคำคัดค้านนั้น อนุกรรมการที่ถูกคัดค้านแต่ละรายก็มิได้อยู่ร่วมในการวินิจฉัยข้อคัดค้านเฉพาะส่วนของตนแต่อย่างใด ทั้งในระหว่างที่มีการคัดค้านจนกระทั่ง คตส.มีมติยกเลิกคำคัดค้าน ก็ไม่ปรากฏว่า อนุกรรมการทั้ง 3 ได้มีการดำเนินการใดเกี่ยวกับการไต่สวนในเรื่องนี้ ดังนั้นการแต่งตั้ง นายกล้านรงค์ นายบรรเจิด และนายแก้วสรร เป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวน จึงชอบแล้ว ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านโต้แย้งต่อไปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบ จึงไม่มีอำนาจเข้าดำเนินการแทน คตส. นั้น ข้อนี้เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่นี้ เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ซึ่งตามประกาศดังกล่าว ในข้อ 1 กำหนดให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งมิได้มาจากการสรรหาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 7 จึงไม่จำต้องดำเนินการให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการแต่ประการใด และถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อระยะเวลาตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 11 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 - 2550 สิ้นสุดลง คตส.ไม่อาจใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 อีกต่อไป จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินคดีแทน คตส. และถือว่าสำนวนการสอบสวน และผลการตรวจสอบที่ คตส.ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ตามประกาศดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอำนาจดำเนินการแทน คตส.ได้ การดำเนินการของ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงชอบแล้ว ส่วนที่ว่า คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในการพิสูจน์ทรัพย์สินให้เสร็จเด็ดขาดก่อนยื่นคำร้อง เป็นการข้ามขั้นตอนของกฎหมายนั้น ข้อนี้เห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 8 บัญญัติว่า บรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัดตามข้อ 5 ถ้าเจ้าของทรัพย์พิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือ มิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และในข้อ 11 ของประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าว บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการตรวจสอบ ดำเนินการตามประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศนี้ใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามความในวรรค 1 แต่การตรวจสอบหรือการสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี จากบทบัญญัติทั้ง 2 นี้ ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน พิสูจน์ต่อ คตส.ได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวย หรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่ง คตส.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านแล้ว แต่เนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 ที่แก้ไขเพิ่มเติมในวรรค 3 ก่อนที่ คตส.จะพิจารณาเรื่องพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จสิ้นไปได้ทุกกรณี สำหรับกรณีที่วินิจฉัยได้ คตส.มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดแล้ว ส่วนกรณีที่ไม่แล้วเสร็จ ก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านต้องพิสูจน์ต่อศาล และเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งต่อไป ดังนั้น การกระทำของ คตส.และกรรมการ ป.ป.ช.จึงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่า ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เนื่องจากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องที่ส่งมายังมีข้อไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 9 ระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ส่งรายงานเอกสาร พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการของคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันตามความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นในครั้งแรกว่า ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนการตรวจสอบ ไต่สวน แต่เมื่อ คตส.ยืนยันความเห็นให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดได้พิจารณาและดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนดคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ จึงต้องถือว่า ข้อที่ไม่สมบูรณ์ในครั้งแรกนั้น ได้มีการแก้ไขและได้ยุติไปแล้ว ส่วนที่ว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่ต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาก่อน ตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหานั้น เห็นว่า มูลคดีนี้เป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยได้กระทำการต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน ครอบครัว หรือพวกพ้อง เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ มิใช่เป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีมูลเหตุมาจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างมาในคำร้องว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิดทางอาญาด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความ คือ ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จริงหรือไม่ หากได้ความตามนี้แล้ว ศาลย่อมมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ แต่อย่างใด ดังนั้นคดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2512 มาตรา 18 วรรค 2 ศาลฎีกาแผนดดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปได้ โดยไม่จำต้องรอฟังผลคดีส่วนอาญาเสียก่อน ทั้งคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาเองก็ระบุในคำคัดค้านเป็นข้อต่อสู้มาด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งมิใช่คดีอาญา ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาของศาล ที่จะต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาแต่ประการใด และที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านโต้แย้งต่อไปว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องของให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 วรรค 2 ให้อำนาจ คตส.สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้ถูกตรวจสอบ คู่สมรส และบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้ โดยตามคำร้องของ คตส.ดังกล่าว กล่าวหาว่า ทรัพย์สินที่ทำการอายัดไว้เป็นของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรส และร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเฉพาะทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น หาได้เป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งหลายไม่ ด้วยเหตุดังกล่าว องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ปัญหาต่อไปมีว่า คำร้องเคลือบคลุมหรือไม่ ตามคำร้องบรรยายว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยมีผู้คัดค้านที่ 2 - 5 และบริษัท แอมเพิลริช เป็นผู้ถือหุ้นแทน และผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่สั่งการ มอบนโยบายในการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.25527 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2546 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 68 ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 และออกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน สั่งการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ไทยคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับ.. ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ครั้งที่ 7 ลงวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้จ่ายเครือข่ายร่วม ละเว้นอนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ทั้งนี้เป็นการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทในเครือ โดยที่บริษัท ชินคอร์ป ประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับ.. ลงวันที่ 11 กันยายน 2534 จากกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ซึ่งตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 1. ระบุว่ากระทรวงคมนาคมตกลงให้บริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมีสิทธิ์ในการบริหารกิจการ และการให้บริการวงจรดาวเทียมเพื่อการสื่อภายในประเทศ และมีสิทธิ์เก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้ สิทธิ์ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นของบริษัท ชินคอร์ป โดยในการแก้ไขสัญญาดังกล่าว จำนวน 5 ครั้ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 วันที่ 3 มีนาคม 2536 วันที่ 30 มกราคม 2541 วันที่ 20 กันยายน 2543 และวันที่ 27 ตุลาคม 2547 บริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ลงนามเป็นคู่สัญญาตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 8 วรรค 3 (1) บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้น ยังต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งหมายถึงบุคคลต่างด้าวจะเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ 25 ดังนั้นหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2-5 และบริษัท แอมเพิลริช เป็นผู้ถือหุ้นแทน ย่อมไม่สามารถขายให้กับบุคคลต่างด้าวได้ เนื่องจากจะมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าวเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ แต่ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว จนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และออกเป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ซึ่งแก้ไข(1) มาตรา 8 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ดังกล่าว เป็นว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยไม่มีบทบัญญัติให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยแต่อย่างใด เป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ป ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ 50 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549 ปรากฏว่า ในวันที่ 23 มกราคา 2549 ได้มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ที่ผู้ถูกกล่วหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,742,880,932 บาท 5 สตางค์ และตั้งแต่ปี 2546 - 2548 บริษัท ชินคอร์ป ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวม 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าว ทั้งหมด 76,641,403,061 บาท 5 สตางค์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ดังกล่าว หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,742,880,932 บาท 5 สตางค์ และเงินปันผล จำนวน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าว ทั้งสิ้น 76,621,603,061 บาท 5 สตางค์ พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เห็นว่าคำร้องของผู้ร้องได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ถือครองหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ผ่านบุคคลซึ่งเป็นญาติพี่น้อง และนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น กับมาตรการต่างๆ ที่ได้กระทำ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าว ส่งผลให้หุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่ถูกกล่าวหาถือครองอยู่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก ทั้งได้ระบุจำนวนเงินที่ได้จากการขายหุ้น รวมทั้งเงินปันผล ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมกับแนบเอกสารแสดงรายละเอียดยอดเงินที่อายัด ชื่อผู้ครอบครอง หรือมีชื่อเป็นเจ้าของ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องโดยครบถ้วน ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรค 2 และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 23 แล้ว และคดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งให้เงินทั้งจำนวน จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป และเงินปันผลพร้อมดอกผลของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องจึงไม่จำต้องบรรยายคำร้อง โดยแยกทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีอยู่เท่าใด ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา มีการเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างไร และผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการหรือมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องทำการไต่สวน เพื่อให้ปรากฏในการพิจารณาของศาล สำหรับคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือ จำนวน 9,943,368,695 บาท 24 สตางค์ ที่ไม่ได้มีการอายัดไว้ ซึ่งไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อที่อยู่ของผู้ครอบครอง หรือเป็นเจ้าของ มาในคำร้องนั้น เป็นเพราะ คตส.ยังไม่อาจตรวจสอบให้ทราบได้นั่นเอง ทั้งหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป และเงินปันผลของผู้ถูกกล่าวหา ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดี ตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้ครบถ้วนต่อไป องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า คำร้องไม่เคลือบคลุม ปัญหาวินิจฉัยต่อไป มีว่า ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น โดยให้ผู้คัดค้านที่ 2-5 และบริษัท แอมเพิลริช ถือแทนตามคำร้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าว นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบ คตส. และประธานอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขาย และโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป เบิกความประกอบบันทึกข้อความเรื่อง ข้อมูลและประเด็นเรื่องการถือครองหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ของผู้ถูกกล่าวหากับพวก และรายงานการไต่สวนว่า ตามบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป ณ วันที่ 10 เมษายน 2541 ปรากฏ การถือหุ้นของผู้ถูกล่าวหากับพวก ในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท ดังนี้ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น 32,920,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 34,650,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 6,847,395 หุ้น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 บริษัท ชินคอร์ป มีมติให้เปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ของบริษัท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากหุ้นที่ยังไม่ได้จัดสรรเสนอขายแห่ผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 15 บาท วันที่ 16 มีนาคม 2542 ผู้คัดค้านที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขารัชโยธิน เพื่อซื้อเช็กธนาคาร 3 ฉบับ นำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในนามผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 34,650,000 หุ้น เป็นเงิน 519,750,000 บาท ในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 32,920,000 หุ้น เป็นเงิน 493,800,000 บาท และในนามผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 6,809,015 หุ้น เป็นเงิน 102,135,225 บาท ผู้คัดค้านที่ 5 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 สัญญาจะจ่ายเงิน 102,135,225 บาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย หลังจากมีการเพิ่มทุนแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น 65,840,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้น 69,300,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้น 43,618,030 หุ้น วันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช ราคาหุ้นละ 10 บาท โดยผู้คัดค้านที่ 1 สั่งจ่ายเช็กธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2542 จ่ายบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด จำนวน 330,961,220 บาท เพื่อชำระค่าหุ้น และบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด สั่งจ่ายเช็กธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนรัชดาภิเษก ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2542 จำนวน 327,438,780 บาท เป็นค่าขายหุ้นให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แล้วเช็กฉบับดังกล่าวได้นำเข้าเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน ต่อมาผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 5 รายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ตามแบบ 246-2 ว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้แก่ผู้ซื้อโดยตรง ในราคาหุ้นละ 10 บาท โดยผู้ถูกกล่าวหาขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 30,920,000 หุ้น และขายให้กับผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 2,000,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ขายให้กับผู้คัดค้านที่ 2 42,475,000 หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 26,825,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ 1 กันยายน 2543 สัญญาจะจ่ายเงิน 309,200,000 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และสัญญาจะจ่ายเงิน 424,750,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ 4 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ 1 กันยายน 2543 สัญญาจะจ่ายเงิน 20,000,000 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ 5 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ 1 กันยายน 2543 สัญญาจะจ่ายเงิน 268,250,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 บริษัท ชินคอร์ป ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนมูลค่าหุ้นที่ได้ตราไว้ หุ้นละ 10 บาท พาร์ 1 บาท เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า คือผู้คัดค้านที่ 2 ถือหุ้น 733,950,220 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้น 404,430,300 หุ้น บริษัท แอมเพิลริช ถือหุ้น 329,200,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 4 ถือหุ้น 20 ล้านหุ้น ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 และ ที่ 3 รายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ซื้อโดยตรง ในราคาหุ้นละ 1 บาท โดยขายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545 จำนวน 367,000,000 หุ้น และเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2546 จำนวน 73,000,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 2 คงเหลือหุ้น 293,950,220 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 3 ถือหุ้นรวม 440,000,000 หุ้น และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการบริษัท แอมเพิลริช ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่บริษัท แอมเพิลริช ถืออยู่ทั้งหมด 329,200,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และ 3 คนละ 164,600,000 หุ้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 หุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2-5 ถืออยู่ทั้งหมด ได้ขายให้แก่บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด รวม 1,487,740,120 หุ้น ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท โดยรายการเฉพาะหุ้นที่ได้รับโอนมาจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่รับโอนจากบริษัท แอมเพิลริช อยู่ในชื่อผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 458,550,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 604,600,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 20,000,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 336,340,150 หุ้น รวม 1,419,490,150 หุ้น เมื่อหักค่านายหน้าร้อยละ 0.25 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว คงเหลือค่าหุ้นสุทธิ 69,722,880,932 บาท 5 สตางค์ และหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้นดังกล่าว ได้รับเงินปันผลระหว่างปี 2546 - 2548 รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 6,898,722,129 บาท คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อหาดังกล่าวว่า ผู้ถูกกล่าวหาคงถือหุ้นไว้ ซึ่งหุ้นบริษัท ชินคอร์ป รวมทั้งบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง เอกสารจากสำนักงาน ก.ล.ต. และรายงานประจำปี 2543 - 2549 ของบริษัท ชินคอร์ป กับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้กล่าวหาแล้ว สรุปความเห็นว่า เมื่อครั้งผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน 2 วาระ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังถือหุ้นไว้ ซึ่งในบริษัท ชินคอร์ป โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2-5 และบริษัท แอมเพิลริช เป็นผู้ถือหุ้นแทน ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหาได้รวบรวมหุ้นดังกล่าวทั้งหมด 1,419,490,150 หุ้น ขายให้กลุ่มเทมาเส็ก ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1-5 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 4 และ ที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 โดยได้รับชำระเงินค่าหุ้นตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ขายหุ้นบริษัท แอมเพิลริช ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 โดยได้รับชำระค่าหุ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 โดยผู้คัดค้านที่ 3 ได้สั่งจ่ายเช็กชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ครบถ้วนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 5 ได้กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ชินคอร์ป โดยได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินครบถ้วนแล้ว และผู้ถูกกล่าวหา ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า คตส.ไม่ยอมรับความมีจริงของเอกสารตามกฎหมาย แม้แต่เอกสารที่รายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น ปรากฏว่าการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่มีการรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในคดีนี้ เป็นการรายงานตามแบบ 246-2 ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 246 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลใดได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการใด ในลักษณะที่ทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทุกร้อยละ 5 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการลงทะเบียนโอนหลักทรัพย์หรือไม่ และไม่ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหลักทรัพย์นั้น จะมีจำนวนเท่าใดในแต่ละครั้ง บุคคลนั้นต้องรายงานถึงจำนวนหลักทรัพย์ในทุกร้อยละ 5 ดังกล่าว ต่อสำนักคณะกรรมการ ก.ล.ต.ทุกครั้งที่ได้มา หรือจำหน่ายหลักทรัพย์" มาตรา 247 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลใดเสนอซื้อหรือกระทำการอื่นใด อันเป็นผลให้ตนได้มา หรือเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 ขึ้นไปของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ" และมาตรา 247 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า "การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามวรรค 1 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด ในการนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้" ประกอบกับเลขาธิการ ก.ล.ต.ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2550 แจ้งข้อมูลต่อประธานอนุกรรมการตรวจสอบว่า ในการพิจารณาหน้าที่ตามมาตรา 246 และ 247 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 นั้น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ อันเป็นผลให้เกิดหน้าที่รายงานตามมาตรา 246 และทำคำเสนอซื้อตามมาตรา 247 นั้น เป็นการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในกิจการ ไม่ว่าธุรกรรมนั้นจะเป็นการให้เปล่า หรือการซื้อขายในราคาใด หากเป็นการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีหน้าที่หรือความรับผิด (กรณีฝ่าฝืน) ไม่แตกต่างกัน ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระราคาจึงไม่ใช่สาระสำคัญในแง่ของบทบัญญัติดังกล่าวตามกฎหมายหลักทรัพย์ สำนักงานจึงไม่ได้ตรวจสอบการชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้รายงาน หรือผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ การรายงานตามแบบ 246-2 จึงไม่ใช่หลักฐานแสดงการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้น จำนวนที่รายงาน ดังนั้นในปัญหาว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์ระหว่างผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ตั้งแต่มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ป การโอนหุ้นระหว่างกัน และการถือครองหุ้นตั้งแต่มีการโอนจนขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็ก เป็นสำคัญ ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่าเมื่อ พ.ศ.2540 ได้ยกหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 4,500,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 ในโอกาสที่ผู้คัดค้านที่ 5 แต่งงาน และครบรอบวันเกิด 1 ปี ของบุตรผู้คัดค้านที่ 5 โดยทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์จากหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 ในบัญชีของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี หุ้นจำนวนนี้กับหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 5 มีอยู่เดิม คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นหุ้นที่ถือไว้แทนผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกคัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 5 เบิกความรับว่าในปี 2542 ซึ่งซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ป หุ้นละ 15 บาท จำนวน 6,809,015 หุ้นนั้น ผู้คัดค้านที่ 5 กับคู่สมรส มีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท แต่การใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นเงิน 102,135,225 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่ผู้คัดค้านที่ 5 เบิกความว่าจะทำกำไรให้ กลับใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 มาชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยผู้คัดค้านที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ เพื่อนำมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้คัดค้านที่ 5 พร้อมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 32,900,000 หุ้น และ 34,650,000 หุ้น ตามลำดับ ข้ออ้างที่ว่า ผู้คัดค้านที่ 5 ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 มาซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 102,135,225 บาท ให้แก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย กลับทำให้เป็นพิรุธ ถ้าผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่จะใช้คำนำนามว่า คุณหญิง" เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2542 ที่ผู้คัดค้านที่ 5 เบิกความว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ ซึ่งทำขึ้นเมื่อปลายปี 2542 เนื่องจากได้รับแจ้งจากนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมที่ระบุชื่อนางพจมาน ชินวัตร หายไป เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อ เพราะในทางไต่สวนปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ยังได้รับตั๋วสัญญาใช้เงิน เนื่องจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป และหุ้นบริษัทอื่นอีกหลายฉบับ แต่กลับหายไปจนเกิดข้อพิรุธฉบับเดียว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช ในราคาพาร์ 10 บาท โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ แอสเสทพลัส จำกัด เพื่อทำรายการซื้อหุ้นให้บริษัท แอมเพิลริช เมื่อบริษัทหลักทรัพย์แอสเสท พลัส ชำระค่าขายหุ้น ซึ่งหักค่านายหน้าแล้วเป็นเงิน 327,438,780 บาท ก็นำเงินดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 สำหรับการโอนหุ้นซึ่งผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ถืออยู่ในวันที่ 1 กันยายน 32,900,000 หุ้น และ 69,300,000 หุ้น ตามลำดับ



ที่มา : โดยทีมงาน “Breaking News” ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028158

ไม่มีความคิดเห็น: