วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำไม เด็กเด็กของเราต้องกวดวิชา


วันเสาร์ที่ 26 ก.ย.2552 หลังจากที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนชื่อดังของ จ.ราชบุรี หยุดเทอมวันแรก ลูกสาวผมซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.5 รีบเดินทางเข้าไปเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ ทันที โดยมีการลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าแล้ว ผมได้เดินทางไปส่งลูกสาวที่ อาคารวรรณสรณ์ สี่แยกพญาไท ถ้าจำไม่ผิดสูงเกือบ 17 ชั้น แต่ละชั้นมีโรงเรียนกวดวิชาของอาจารย์ชื่อดังต่างๆ มาเปิดสอนอยู่ที่นี่จำนวนมาก รวมทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม อีกหลายหลายสไตล์เปิดให้บริการ ในวันนั้น ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างพากันเดินควักไขว่ บ้างก็กำลังขึ้นลงลิฟต์ บ้างก็กำลังขึ้นลงบันไดเลื่อน หาที่ลงทะเบียน เพื่อเข้าเรียนกวดวิชากับอาจารย์ชื่อดัง ตามที่ได้สมัครเรียนไว้ล่วงหน้า

เกิดคำถามในใจผมขึ้นว่า “ทำไม เด็กเด็กของเราต้องกวดวิชา”

ก่อนอื่นต้องนิยามคำว่า “กวดวิชา” กับ “เรียนพิเศษ” ก่อนว่ามีความหมายแตกต่างกันอย่างไร ในความเห็นของส่วนตัวของผมแล้ว

คำว่า กวดวิชา หมายถึง เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิชาจากห้องเรียนเป็นอย่างดี แล้วไปสมัครกวดวิชานั้นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น หาวิธีการจำใหม่ๆ หาวิธีการคิดที่เป็นทางลัดและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งฝึกฝน หาประสบการณ์ในการทำข้อสอบ ของสถาบันต่างๆ ตามที่ตนเองมุ่งหวังไว้

ส่วนคำว่า เรียนพิเศษ หมายถึง เด็กเรียนวิชาที่ครูสอนในห้องเรียน แล้วไม่เข้าใจ เพราะสติปัญญาอาจรับได้ช้ากว่าเพื่อนๆ คุณครูเลยต้องจัดให้มีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกเวลา โดยเป็นไปตามจิตสำนึกของครู

หากคำนิยามเป็นไปตามความคิดของผม แสดงว่าทุกวันนี้ ยังมีความสับสนกันอยู่

กวดวิชา -> ควรจะเสียเงิน (ใช่หรือไม่?)
เรียนพิเศษ -> ควรเป็นการเรียนที่ไม่เสียเงิน ควรเป็นน้ำใจของครูที่มีต่อศิษย์ (ใช่หรือไม่?)

ตอนนี้ลูกสาวผม ต้องเรียนทั้งสองอย่างเลย คือ ทั้งกวดวิชา และเรียนพิเศษ เดือนหนึ่งหนึ่ง ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ จำนวนกว่า 3,000 บาท ยิ่งตอนปิดเทอมที่ต้องไปกวดวิชาที่กรุงเทพฯ ด้วยแล้ว ต้องมีอย่างต่ำไม่น้อยกว่าเดือนละ 8,000 บาท (แล้วเรียนฟรี 15 ปี หมายความถึงอะไร ทำไม? ต้องเสียเงิน เพื่อให้ เรียนดี แสดงว่า เรียนฟรี ไม่ได้หมายความถึง นักเรียนจะเรียนดี)

คณะเด่น มหาวิทยาลัยดี ชื่อเสียงดัง คือ จุดมุ่งหมายของลูกสาวผม
คงไม่ต้องตอบคำถามแล้วว่า เด็กต้องกวดวิชาเพราะอะไร
นักการเมือง นักวิชาการ และผู้บริหารการศึกษา มักชอบพูดเสมอว่า· ทุกคนต้องมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันโดยเสมอภาค
· ผู้เรียนทุกคนต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน
· ทุกคนจะได้เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ และในอนาคตจะขยายเรียนฟรีต่อถึงระดับปริญญาตรี (การเรียนฟรีในโรงเรียนที่ดี กับการเรียนฟรีในโรงเรียนที่ไม่ได้เรื่อง มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน )· เราจะมีโรงเรียนในฝัน (นายฝัน มากกว่า) ในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด
· เรากำลังจะเปิด Tutor Channel ทาง NBT และ ETV (ท่านกำลังสร้างวัฒนธรรมและธุรกิจกวดวิชา รวมทั้ง ท่านกำลังดูถูกครูทั่วประเทศ ที่สอนตามปกติ)· เรากำลังจะพัฒนาครูให้มีคุณภาพ และกำลังจะสร้างครูพันธ์ใหม่ ซึ่งมาจากคนเก่งของประเทศ (แล้วครูที่ร่ำรวยจากการกวดวิชา ในตอนนี้ จะเอาไปไว้ไหน อีกทั้งครูที่สอนในชั่วโมงไม่เต็มที่ หากเด็กอยากรู้เพิ่มเติม ต้องเสียเงินมาเรียนพิเศษนอกเวลากับครูเอาเอง ครูจำพวกนี้จะทำอย่างไร)· ฯลฯ

ผมก็ไม่รู้ว่า ลูกสาวของผม หลังจากจบ ม.6 จะได้เข้าเรียนต่อใน คณะเด่น มหาวิทยาลัยดี ชื่อเสียงดัง ตามที่มุ่งหวัง ไว้หรือไม่ เพราะการศึกษาระบบ “แพ้คัดออก” ยังมีให้เห็นอยู่ในวงการการศึกษาของไทย แต่ละสถาบันยังมีอัตราของตัวเอง รวมทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียงและศักดิ์ศรี ที่จักต้องจรรโลงไว้

ตรงกันข้าม ยังมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งกำลังจะแย่ เพราะไม่มีนักศึกษาจะเรียน คณะก็ไม่เด่น มหาวิทยาลัยก็ไม่ดี ชื่อเสียงก็ไม่เป็นที่ยอมรับ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ นักเรียนไม่ต้องกวดวิชาก็เข้าเรียนได้

วันนี้ ธุรกิจการกวดวิชาและการเรียนพิเศษ กำลังแพร่ขยายเป็นวงกว้างไปเกือบทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะเจาะกลุ่มเป้าหมายในหมู่ผู้ปกครองที่มีอันจะกิน อาจารย์กวดวิชาชื่อดังหลายคน ขยายสาขาไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ โดยเด็กเด็ก ต้องเสียเงิน เสียเวลา เพียงแค่มานั่งดู CD การสอนเท่านั้น แล้วครูในพื้นที่ที่มีหน้าที่สอนตามปกติ...กำลังทำอะไรกันอยู่...

......คำถามสุดท้าย มีอยู่ว่า แล้วเด็กและผู้ปกครองอีกหลายคนที่ไม่มีอันจะกิน จะทำอย่างไร เพราะใครๆ ก็อยากให้ลูกได้เรียนดีดีทั้งนั้น.... คำว่า “โง่ จน เจ็บ” ....ในภาพยนตร์โฆษณาไม่ใช่คำตอบ แต่วันนี้ เขาไม่โง่ เพียงแต่เขาจน และเขาต้องยอมเจ็บ เพราะนโยบายการศึกษาของบรรดา นักการเมือง นักวิชาการ และนักบริหารการศึกษา ที่คิดว่าดีเลิศแล้ว...เท่านั้นเอง...


ชาติชาย คเชนชล : 6 ต.ค.2552