วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

31 จริยธรรม คุมนักการเมืองไทย ฝ่าฝืนปลด

วันนี้ ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ มติชนออนไลน์ซึ่งได้นำเสนอเกี่ยวกับ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 22 ส.ค.2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเรา เพื่อเก็บไว้ตรวจสอบนักการเมืองที่ผิดจริยธรรม ลองอ่านดูนะครับ




ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองพ.ศ.2551

โดยที่มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2543


ข้อ 4 ในระเบียบนี้
"ข้าราชการการเมือง" หมายความว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ข้อ 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้


หมวด 1
ค่านิยมหลักของข้าราชการการเมือง

ข้อ 6 ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาประโยชน์ส่วนรวม ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก ดังนี้
(1) ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) ยึดมั่นคุณธรรมและจริยธรรม
(3) มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
(4) ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
(5) ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
(6) ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ
(7) ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
(8) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
(9) ยึดมั่นในหลักจรรยาของการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี

หมวด 2
มาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมือง

ข้อ 7 ข้าราชการการเมืองต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ 8 ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
ข้อ 9 ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ข้อ 10 ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรมทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน
ข้อ 11 ข้าราชการการเมืองต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด
ข้อ 12 ข้าราชการการเมืองต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และต้องถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด
ข้อ 13 ข้าราชการการเมืองต้องรับใช้ประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและปราศจากอคติ
ข้อ 14 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม
ข้อ 15 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ข้อ 16 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ยินยอมให้คู่สมรส ญาติสนิท บุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของผู้อื่น และต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบ
ข้อ 17 ข้าราชการการเมืองต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ อาชีพหรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ 18 ข้าราชการการเมืองต้องรักษาความลับของราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ข้อ 19 ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในกฎหมายและคำนึงถึงระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งผู้สมควรดำรงตำแหน่งต่างๆ
ข้อ 20 ข้าราชการการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้ว ต้องไม่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตำแหน่งไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรเอกชน ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาสองปีนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ 21 ข้าราชการการเมืองต้องเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้อำนาจในทางที่ผิด การฉ้อฉล หลอกลวง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้ราชการเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
ข้อ 22 ข้าราชการการเมืองต้องไม่เรียกร้องของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน และจะต้องดูแลให้คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย
ข้อ 23 ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติต่อองค์กรธุรกิจที่ติดต่อทำธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐตามระเบียบและขั้นตอนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อ 24 ข้าราชการการเมืองพึงพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เอาใจใส่ทุกข์สุขและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและรีบหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อ 25 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ข้อ 26 ข้าราชการการเมืองต้องรักษาทรัพย์สินของราชการและใช้ทรัพย์สินของราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ เท่านั้น
ข้อ 27 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ
ข้อ 28 ข้าราชการการเมืองต้องไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมายหรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย เช่น ผู้เปิดบ่อนการพนันหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ 29 ข้าราชการการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบตามควรแก่กรณีเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง
หมวด 3 การกำกับดูแล

ข้อ 30 นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของรัฐมนตรีและข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้ ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ ลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ

ข้อ 31 รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการการเมืองอื่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้ ให้รัฐมนตรีดำเนินการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ ถ้าปรากฏว่ารัฐมนตรีผู้ใดมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้รัฐมนตรีผู้นั้นดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ประกาศ ณ วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2551
สมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ : ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หน้า 9 เล่ม 125 ตอนพิเศษ 141 ง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา

หากนักการเมืองปฏิบัติได้ตามจริยธรรมทั้ง 31 ข้อนี้ แล้ว ผมว่าบ้านนี้ เมืองนี้ คงเจริญขึ้นอีกเยอะ แผ่นดินจะสูงขึ้นเป็นกอง
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1219598953&grpid=05&catid=01

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทบทวนการกระทำของทักษิณกับพวก

ขณะที่ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ เป็นวันที่ 25 ส.ค.2551 เวลาประมาณ 13.00 น. ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 13 ชั่วโมง ที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นัดพันธมิตรทั่วประเทศไทย มาร่วมกันชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในเช้าวันที่ 26 ส.ค.2551 เวลา 07.00 น. ณ บริเวณสะพานมัฆวานและถนนราชดำเนิน โดยประกาศว่าจะเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้าย ไม่ชนะไม่เลิก

ข้าพเจ้าได้มานั่งทบทวนแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ ล้วนมีสาเหตุมาจาก คนๆ เดียวที่ชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่นเอง ข้าพเจ้าจึงได้นำ มติคณะกรรมการ คตส.เรื่องการอายัดทรัพย์ของนายทักษิณฯ มาให้ท่านอ่านกันอีกครั้ง เพื่อป้องกันการลืมและเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป ดังนี้

____________


****คำแถลง มติ คตส.****
มติคณะกรรมการตรวจสอบ
เรื่อง ให้อายัดทรัพย์ของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กับพวก
ด้วยผลจากการตรวจสอบและไต่สวนในคดีต่างๆ ของ คณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) ได้ลุล่วงถึงขั้นมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ได้ทุจริตประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติ ได้ทรัพย์สินโดยมิสมควรจากการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้ได้ประโยชน์ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยรวม ดังนี้
พฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบมีพยานหลักฐานจนถึงขั้นถูกกล่าวหา ๕ คดี และ เกิดความเสียหายต่อรัฐดังนี้
๑. การทุจริตโครงการจัดซื้อที่ดินมูลค่าตามสัญญา ๗๗๒ ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย


๒. การจัดซื้อกล้ายางมูลค่าตามสัญญา ๑,๔๔๐ ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๓. การทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX ๙๐๐๐ รัฐเสียหายประมาณ๑,๕๐๐ ล้านบาท

๔. โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รัฐเสียหาย ประมาณ ๓๗,๗๙๐ ล้านบาท

๕. การให้เงินกู้โดยทุจริตของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย รัฐเสียหายประมาณ ๕,๑๘๕ ล้านบาท
พฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภริยา ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นธุรกิจสัมปทานของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา แต่ได้ให้บุตร ญาติ หรือบุคคลผู้ใกล้ชิดเป็นผู้ถือหุ้นเอาไว้แทน และยังได้ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการชินคอร์ปหลายประการ ดังนี้
๑. แก้ไขสัญญาข้อตกลงลดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid) เพื่อประโยชน์แก่บริษัท แอดวานส์ อินโฟเซอร์วิซ จำกัด (AIS) ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ ตลอดอายุสัมปทานเป็นเงิน ประมาณ ๗๑,๖๖๗ ล้านบาท
๒. แก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่งรายได้ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท แอดวานส์ อินโฟเซอร์วิซ จำกัด (AIS) ทำให้รัฐเสียหายประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท
๓. ตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อประโยชน์แก่บริษัท แอดวานส์ อินโฟเซอร์วิซ จำกัด (AIS) ทำให้วิสาหกิจของรัฐเสียหายประมาณ ๓๐,๖๖๗ ล้านบาท
๔. ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เช่าและลงทุนระบบคลื่นความถี่ดาวเทียมของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) โดยไม่จำเป็นเป็นเหตุให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)รัฐเสียหาย เป็นจำนวนเงินประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท
๕. สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการของบริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ในจำนวนเงินกู้ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท
๖. อาศัยการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำผลประโยชน์ของชาติแลกเปลี่ยนบุกเบิกตลาดธุรกิจดาวเทียมให้แก่สายธุรกิจดาวเทียมในเครือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพิ่มมูลค่าธุรกิจดาวเทียมของบริษัทชิน แซทเทิลไลท์ เป็นอันมาก
การใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองดังกล่าว มีทั้งที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องสั่งการโดยตรง หรือละเว้นไม่กำกับสั่งการดูแลมีความพยายามหลีกเลี่ยงขั้นตอนตรวจสอบตามกฎหมายทุกครั้ง ยังผลเป็นประโยชน์อัน มิควรได้ตกเป็นมูลค่าแฝงฝังอยู่ในหุ้นของตน จนมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างผิดปกติตลอดเวลา
ในท้ายที่สุดก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ผลักดันให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยเพิ่มเติมให้บุคคลต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทด้านกิจการโทรคมนาคม จากเดิมไม่เกินร้อยละ ๒๕ เป็นไม่เกินร้อยละ ๕๐ พร้อม ๆ กับการเจรจาเพื่อขายหุ้นที่มีชื่อครอบครัวและบริวารของตนเป็นเจ้าของอยู่ร้อยละ ๔๙.๒ ให้แก่กองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ก็ได้ดำเนินการขายหุ้นดังกล่าวให้แก่กองทุนเทมาเส็กในวันจันทร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้เงินจากการขายหุ้นทั้งหมด เป็นจำนวน ๗๓,๒๗๑ ล้านบาท
คำสั่งอายัดทรัพย์คณะกรรมการตรวจสอบ จึงเห็นว่า ผลการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบและไต่สวนดังกล่าวในปัจจุบัน มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติ และเนื่องจากได้พบว่าเงินบางส่วนได้ถูกยักย้ายถ่ายโอนแล้ว เช่นเงินค่าขายหุ้นชินคอร์ปก็คงเหลืออยู่ในบัญชีประมาณ ๕๒,๘๘๔ ล้านบาทเท่านั้น

อาศัยอำนาจตามความในประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ วรรคสอง และข้อ ๘ จึงมีมติให้อายัดเงิน ในบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังนี้
คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส.๐๑๖/๒๕๕๐ ให้อายัดบัญชีเงินฝากที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่กลุ่มทุนเทมาเส็คดังนี้
๑. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๑๖๐๔-๑ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๒. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๒๗๗๒๒-๒ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๓.บัญชีเลขที่ ๒๐๘-๑-๐๐๐๒๒-๙ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเซ็นจูรี่
๔. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๓๑๐๐๘-๘ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๕. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๓๐๙๒-๒ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๖. บัญชีเลขที่ ๐๐๑-๑-๕๕๒๓๒-๕ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม
๗. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๔๑๕๒๔-๔ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๘. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๒๖๓๑-๓ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๙. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๒๒๒๒-๐ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๑๐. บัญชีเลขที่ ๐๐๑-๑-๕๕๑๘๘-๒ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม
๑๑. บัญชีเลขที่ ๐๑๔-๑-๑๑๓๐๐-๙ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)สาขาพหลโยธิน
๑๒. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๗๘๑๘๘-๑ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๑๓. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๑๑๘๘-๙ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๑๔. บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๓๐๙๕-๖ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน
๑๕. บัญชีเลขที่ ๐๑๔-๒-๔๑๓๓๕-๕ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน
๑๖. กองทุนธนบดี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในนามนายพานทองแท้ ชินวัตร
๑๗. กองทุนธนบดี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในนามนางสาวพินทองทา ชินวัตร
๑๘. บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๒-๓๗๓๔๒-๒ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ฯ
๑๙. บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๒-๓๗๓๔๓-๐ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ฯ
๒๐. บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๒-๓๗๒๘๗-๙ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ฯ
๒๑. บัญชีเลขที่ ๑๔๖-๒-๓๑๐๘๑-๒ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาราชวัตร

*********************************

คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ
ที่ คตส. ๐๑๗/๒๕๕๐

ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ทุกบัญชีเงินฝาก ทุกธนาคาร และทุกสถาบันการเงิน

การอายัดทรัพย์ตามคำสั่งทั้งสองนี้ให้อายัดไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง บุคคลใดกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์สินที่อายัดตามคำสั่งดังกล่าว และมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องเพื่อพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันออกคำสั่งนี้
วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐

***************************************
คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ
ที่ คตส. /๒๕๕๐
เรื่อง อายัดทรัพย์สินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
---------------------------------------
ด้วยคณะกรรมการตรวจสอบในการประชุมครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ มีมติว่าจากการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ
อาศัยอำนาจตามความในประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๕ และข้อ ๘ คณะกรรมการตรวจสอบ จึงออกคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และสถาบันการเงิน ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ทุกบัญชี ทุกธนาคาร และทุกสถาบันการเงิน ไว้ก่อน และให้ทุกธนาคาร และสถาบันการเงินส่งรายงานบัญชี รายละเอียดการฝากถอนเงินของแต่ละบัญชี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบันต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
การอายัดทรัพย์ตามคำสั่งนี้ ให้อายัดไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง อนึ่ง บุคคลใดกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์สินที่อายัดตามคำสั่งดังกล่าว และมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องเพื่อพิสูจน์ ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันออกคำสั่งนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
(นายนาม ยิ้มแย้ม)
ประธานกรรมการตรวจสอบ

การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ

หากกล่าวถึง “การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ” แล้ว คงต้องแปลความหมายของคำว่า อะไรคือ ความมั่นคงของชาติให้ได้เสียก่อน ต่อมาจึงค่อยพิจารณาว่า อะไรบ้างที่เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แยกแยะให้เห็นเด่นชัด แล้วจึงนำมาจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ เหล่านั้นได้

ความมั่นคงของชาติ หมายถึงอะไร
ในความเห็นของผู้เขียนความมั่นคงของชาติ ก็คือ ความมั่นคงขององคาพยพและสรรพสิ่งทั้งมวลที่ประกอบรวมกันชาติ ซึ่งผู้เขียนได้แยกความมั่นคงของชาติออกเป็น 10 ด้านที่สำคัญ คือ
1. ความมั่นคงทางด้านการเมือง
2. ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ
3. ความมั่นคงทางด้านสังคมจิตวิทยา
4. ความมั่นคงทางด้านการทหาร
5. ความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์
6. ความมั่นคงทางด้านพลังงาน
7. ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8. ความมั่นคงทางด้านการสื่อสารมวลชน
9. ความมั่นคงทางด้านโทรคมนาคม
10. ความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยี
ความมั่นคงทั้ง 10 ด้าน ล้วนมีความสำคัญทุกด้าน ไม่สามารถบอกได้ว่าด้านใดด้านหนึ่งสำคัญกว่ากัน และในแต่ละด้านล้วนมีความสัมพันธ์ เกี่ยวโยง สอดรับกันเป็นลูกโซ่ หากด้านใดด้านหนึ่งเกิดความไม่มั่นคงก็จะส่งผลกระทบไปยังด้านอื่นๆ ตามไปด้วย

นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติความมั่นคงของชาติทั้ง 10 ด้านที่กล่าวมา ล้วนมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ถูกเขียนไว้ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน หากแต่ไม่ได้กล่าวไว้ถึงด้านความมั่นคงของนโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนั้นอย่างเด่นชัด นโยบายและยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านล้วนมี ทั้งความมั่นคง และความไม่มั่นคง อยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งพอที่จะแยกให้เห็นได้โดยสังเขป ดังนี้


1. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านการเมือง ความมั่นคงทางด้านการเมืองนี้ หมายถึง การมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นสร้างการเมืองการปกครองให้มีเสถียรภาพ มีการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี มีขั้นตอนและกระบวนการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ มุ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นหลัก เป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความไม่มั่นคงทางด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านการเมือง กลับปรากฏให้เห็นได้ อาทิ
1.1. นโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งต่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและกลุ่มทุนของตนเอง มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน
1.2. นโยบายรัฐบาล ที่พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองของตน และลบล้างความผิดที่ผ่านมาของอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคของตน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม
1.3. นโยบายรัฐบาลในการเลือกสรรบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ขาดความรู้ความสามารถ บางคนมีประวัติค่อนข้างไม่สู้ดีนัก ไม่เป็นที่ยอมรับของข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ พ่อค้าและประชาชน การบริหารงานในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จึงค่อนข้างขาดประสิทธิภาพ
1.4. นโยบายการเข้าแทรกแซงองค์กรและหน่วยงานสำคัญต่างๆ ด้วยการแต่งตั้งพวกห้องของตนเอง เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารระดับสูง เพื่อกำหนดนโยบายให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่ม เช่น คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริหารในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นต้น
1.5. นโยบายการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยไม่เป็นธรรม เอาข้าราชการที่เป็นพวกพ้องของตนเองเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทั้งๆ ที่ขาดความเหมาะสมและขาดความรู้ความสามารถ ไม่เป็นที่ยอมรับของบรรดาเหล่าข้าราชการด้วยกัน ข้าราชการที่ดีมีความรู้ความสามารถ เกิดความท้อแท้สูญเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้ภาคราชการปัจจุบันอ่อนแอ
1.6. นโยบายรัฐบาลบางอย่างล่อแหลมต่อการสูญเสียอธิปไตยของดินแดน อย่างเช่น ในกรณีการขึ้นทะเบียนประสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเสียดินแดนถึงประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร และในอนาคต อาจยังต้องมีเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศกัมพูชาอีกด้วย หากดำเนินนโยบายไม่ดีอาจจะเสียเปรียบต่อประเทศกัมพูชาได้
1.7. นโยบายรัฐบาลที่พยายามปกป้องอดีตนักการเมืองที่กระทำความผิด มีการเลือกปฏิบัติ เกิดบรรทัดฐานที่ผิดเพี้ยนของสังคม ท้าทายอำนาจตุลาการ
1.8. นโยบายของรัฐบาลที่ไม่ยอมดำเนินการแก้ไขปัญหาการดูหมิ่นและจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกัน ระหว่างฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายของตนเอง

2.นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านนี้ กล่าวโดยง่ายก็คือ มุ่งที่จะรักษาความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายของประเทศ ควบคู่กับ รายได้และรายจ่ายของประชาชน แต่ปัจจุบันกลับปรากฏว่า รายได้และรายจ่ายทั้งสองด้าน มีแนวโน้มจะขาดความสมดุล ประชาชนมีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายกลับสูงขึ้นและมีอัตราการเป็นหนี้สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นต้นเหตุให้สรรพสิ่งทั้งมวลที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจนี้ อาจปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน อาทิ
2.1. การปล่อยให้กองทุนเงินขนาดใหญ่ข้ามชาติเข้ามาลงทุนกิจการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การลงทุนกิจการห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทำลายอาชีพโชห่วยของคนไทยโดยสิ้นเชิง เปลี่ยนวิถีชีวิตการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย การปล่อยให้ธนาคารและสถาบันการเงินของชาวต่างชาติมาตั้งและดำเนินกิจการในประเทศไทย ปล่อยให้คนไทยเป็นหนี้ธนาคารและสถาบันการเงินของชาวต่างชาติโดยไม่มีการควบคุม
2.2. การเชิญชวนนักลงทุนชาวต่างชาติ เข้ามาลงทุนประกอบกิจการในประเทศไทย โดยให้อภิสิทธิ์ต่างๆ ทางด้านภาษี และด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลกลับไม่มีนโยบายอย่างจริงจังที่จะส่งเสริม สนับสนุน สร้างและพัฒนาให้ผู้ประกอบการคนไทยสามารถผลิตสินค้าได้เอง คนไทยเป็นได้แค่เพียงลูกจ้าง รัฐบาลได้ภาษีเพียงบางส่วน แต่กำไรที่แท้จริงยังตกอยู่ในมือนักลงทุนชาวต่างชาติ
2.3. การปล่อยให้ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ขึ้นราคาเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน โดยไม่คำนึงถึงประชาชน
2.4. นโยบายและยุทธศาสตร์ภาคการเกษตร ขาดการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ในทางกลับกันกลับส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติมาลงทุน
2.5. รัฐบาลพยายามสร้างนโยบายประชานิยม บริโภคนิยม และเทคโนโลยีนิยม ทำให้ประชาชนมีหนี้สินมากขึ้น ขาดความพอเพียงในการดำเนินชีวิต เงินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน
2.6. การไม่ระมัดระวังเรื่องการเงิน การคลัง และการใช้งบประมาณที่เกินตัว รัฐบาลปัจจุบันพยายามที่จะอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินมากโดยเร็ว โดยไม่มีความจำเป็นและไม่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านสังคมจิตวิทยา นโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ กว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็น นโยบายด้านศาสนา นโยบายด้านสาธารณสุข นโยบายด้านการศึกษา นโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณี นโยบายด้านคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ ในสถานการณ์ในปัจจุบัน ความไม่มั่นคงของชาติทางด้านสังคมจิตวิทยานี้ ปรากฏให้เห็นได้ อาทิ
3.1. นโยบายด้านศาสนา ความไม่มั่นคงในด้านนี้ สังเกตได้จากความล้มเหลวจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาในทุกรัฐบาล เช่น ในกรณีศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนเริ่มห่างจากศาสนาพุทธ บ้าน วัด และโรงเรียน เริ่มแยกออกจากกัน บุตรหลานเริ่มเบื่อพิธีกรรมทางศาสนา ไร้ศรัทธาหลวงพ่อ เปลี่ยนจากเข้าวัดเป็นเข้าห้างสรรพสินค้า หลายคนกำลังเริ่มเสื่อมศรัทธาพระสงฆ์ผู้สืบทอด เป็นต้น
3.2. นโยบายด้านสาธารณสุข นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านนี้ ในทัศนะผู้เขียนภาพรวมค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ แต่ในบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจหลงลืมไป เช่น นโยบายเรื่องการผลิตบุคลากรทางด้านแพทย์ แพทย์ของรัฐหนีออกไปอยู่ภาคเอกชน แพทย์มีความคาดหวังเรื่องค่าตอบแทนที่สูงมากกว่าความคาดหวังที่จะเป็นแพทย์อุดมการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ แพทย์ปัจจุบันไม่ใช่ผู้ที่เสียสละอีกต่อไป คนมีเงินมากเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงวิธีการรักษาที่มีคุณภาพได้ ส่วนด้านนโยบายเรื่องการผลิตยา ซึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดจาก บริษัทฯ ผู้ผลิตยาในต่างประเทศที่พยายามหาวิธีการควบคุมการผลิตและกำหนดราคายา โดยใช้ข้องตกลง สิทธิบัตรต่างๆ ระหว่างประเทศ ส่งผลให้คนไทยต้องใช้ยาที่แพงขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งที่คนไทยมีความสามารถในการผลิตได้เอง เช่นกัน
3.3. นโยบายทางด้านการศึกษา เป้าหมายการจัดการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดออกมาชัดเจนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ปี 2547 คือ คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข หน่วยงานการศึกษาทุกระดับได้ทำการปฏิรูปการศึกษา จัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว หลังจากจัดการศึกษามาถึงขณะนี้ เกือบ 4 ปี หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มที่จะหันหน้ามาตั้งหลักและทบทวนถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียน ว่าการวิธีการจัดการศึกษาดังกล่าวประสบผลสำเร็จหรือไม่ แต่จากการผู้เขียนที่ได้พูดคุย และฟังบรรยาย จากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ล้วนกล่าวไปทำนองเดียวกันว่า นโยบายการจัดศึกษาของเรา ณ ปัจจุบันเกิดความผิดพลาดและล้มเหลว โดยสังเกตได้จากพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษาของประเทศ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน หากประชาชนไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอแล้ว อาจจะล่อแหลมต่อการสูญเสียความมั่นคงเกือบทุกด้าน เพราะคนในชาติ มีปัญญาไม่เพียงพอในการแข่งขันในโลกยุคปัจจุบัน
3.4. นโยบายทางด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ได้พยายามกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ดำเนินโครงการต่างๆ จำนวนมาก เพื่อให้คนไทยหันมาอนุรักษ์และชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรม และประเพณีไทย แต่ผลกลับปรากฏว่าการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ สังเกตได้จากตัวชี้วัดสำคัญ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ยังคงมีพฤติกรรมที่ถูกครอบงำจากวัฒนธรรมและประเพณีของต่างชาติ ตั้งแต่ ทรงผม การแต่งตัว รสนิยม การพูดจา บุคลิกภาพ การบริโภคนิยม และเทคโนโลยีนิยม ซึ่งมีให้เห็นอย่างชัดเจนโดยทั่วไป
3.5. นโยบายด้านการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม นโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ ค่อนข้างยากที่จะมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม การนำยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติไม่สามารถหาตัวชี้วัดได้อย่างแน่ชัด ข่าวสารต่างๆ ที่เราได้อ่าน ได้เห็น ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นไปทางเสื่อมถอยทางคุณธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัด คือ พฤติกรรมของบรรดานักการเมืองและข้าราชการหลายคนที่แสดงให้เห็น

4. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านการทหาร นโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ ไม่ได้ถูกพัฒนามานานนับศตวรรษ เพราะภัยคุกคามปัจจุบันที่มีต่อประเทศไทย เป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็นอย่างสมัยก่อน ที่มีการรบกันด้วยกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และการแย่งยึดพื้นที่ เห็นเลือดและความตายกันอย่างชัดเจน เพราะเหตุนี้ รัฐบาลจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญมากนักที่จะจัดสรรงบประมาณให้ งบประมาณทางด้านการทหารในแต่ละปีที่ได้รับเป็นเพียงแค่การดำรงชีพ ส่วนงบประมาณด้านการพัฒนากำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ มีจำนวนน้อยมาก ตอนนี้กองทัพมีหน้าที่เพียงรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์เก่า ให้สามารถใช้งานได้ แม้ว่าบางอาวุธยุทโธปกรณ์บางชนิดจะหมดอายุการใช้งานไปนานแล้วก็ตาม การไม่ได้จัดซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยเพิ่มเติม เพื่อเป็นอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่ค่อนข้างล่อแหลมต่อการรักษาอธิปไตยของประเทศชาติ นอกจากนั้น นักการเมืองก็พยายามแทรกแซงการบริหารงานบุคคลภายในกองทัพ โยกย้ายแม่ทัพนายกองต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม เอาพวกพ้องของตนเองขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีภายในหมู่ทหารด้วยกันเอง สถาบันทหารอ่อนแอลง นักการเมืองยังมีความพยายามที่จะใช้กองทัพเป็นฐานเสียงทางการเมืองอย่างเห็นเด่นชัด

5. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์ นโยบายด้านนี้ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ยังมองภาพไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนของการจัดการศึกษา หรือว่าจะอยู่ในส่วนของการนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ยังมองไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก การส่งเสริมวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างหลวมๆ มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง นโยบายและยุทธศาสตร์การนำวิทยาศาสตร์มาส่งเสริมและสนับสนุน ด้านเศรษฐกิจสังคม ยังไม่เกิดขึ้น

6. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ประเทศไทยยังจำต้องอาศัยพลังงานจากภายนอกประเทศมาใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าพลังงานที่มีในประเทศยังคงมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ แถมพลังงานในประเทศของเราก็ยังมีการจัดสัมปทานให้แก่บริษัทฯ ต่างชาติเข้ามาดำเนินการเอากำไรอีกต่อ เพราะประเทศไทยขาดเทคโนโลยีที่จะใช้ในการผลิต นโยบายด้านพลังงานโดยเฉพาะ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด คือ การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทฯ มหาชน และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาถือหุ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเวลานี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของ ปตท. ที่ต้องการจะคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้น ในด้านพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทฯ เอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในอนาคตประชาชนคนไทย มีแนวโน้มที่จะใช้ไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้น เพราะบริษัทฯ เอกชน ต้นน้ำที่ผลิตไฟฟ้าย่อมต้องหวังผลกำไรให้แก่ตัวเอง แล้วกว่าจะผ่านมายังการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนถึงมือประชาชนซึ่งเป็นปลายน้ำ สรุปแล้ว เงินที่ประชาชนเสีย ก็คือ ทั้งจ่ายเป็นต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าบวกกับกำไรให้หน่วยงานต่างๆ ระหว่างทาง
ปัจจุบันนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามากุมอำนาจของนักลงทุนชาวต่างชาติ ประกอบกับรัฐบาลไม่ส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดหาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

7. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะเสื่อมโทรมลงและหมดไป นับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังประสบ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การบุกรุกที่ราชพัสดุและเขตอุทยานแห่งชาติ การบุกรุกป่าชายเลน หรือแม้แต่การลดลงของพื้นที่แนวปะการังในทะเล ซึ่งสาเหตุทั้งหมดเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของนายทุนร่วมกับนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ที่ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ ภาคราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงขาดความสนใจดูแล ในด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้ คือ ปัญหาขยะล้นเมือง ในทุกพื้นที่ชุมชนเกือบทั่วประเทศไทย เทศบาล อบต. อบจ. หลายแห่งกำลังหาวิธีจัดการแก้ไขขยะที่มีประสิทธิภาพแต่กลับเป็นไปได้ยาก เพราะขาดความร่วมมือและการเสียสละอย่างจริงจัง ปัญหามลภาวะเป็นพิษจากการปล่อยน้ำเสีย ปล่อยก๊าซพิษต่างๆ จากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ก็กำลังเป็นสิ่งที่โลกให้ความสนใจแก้ไข จากผลที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น

8. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านสื่อสารมวลชน การสื่อสารไปยังประชาชน ด้วยเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ยังถูกจำกัดโดยรัฐบาล การจัดสรรคลื่นความถี่ต่างๆ ให้แก่ประชาชนยังไม่เป็นธรรมและทั่วถึงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คลื่นความถี่ต่างๆ ยังคงอยู่ในมือของภาครัฐ และผู้ประกอบการบางกลุ่ม รัฐบาลและนายทุนพยายามแทรกแซงสื่อสารมวลชน นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวก มากกว่าที่จะนำเสนอเรื่องจริงให้แก่ประชาชนทราบ ผู้ประกอบการด้านสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่เห็นแก่ผลกำไรของตนเองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่า รายการต่างๆ ที่นำเสนอทางสื่อตนเองไปสู่ประชาชนนั้น เป็นการมอมเมาประชาชน ทั้งทางความคิดและวัฒนธรรม
9. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านโทรคมนาคม การโทรคมนาคมในปัจจุบัน นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อกันได้ทั่วโลกในทันทีทันใดแบบ Real Time ก่อให้เกิดผลประโยชน์มากมายในทุกด้านทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การขนส่ง การเงิน โดยผ่านสื่อกลางสำคัญคือ คลื่นความถี่ ดาวเทียม และสายเคเบิล ปัจจุบันสัมปทานของสื่อกลางเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่อยู่ในมือของนักลงทุนชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น การแปรรูปองค์การโทรศัพท์ การแปรรูปไปรษณีย์ไทย และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น
10. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยขาดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง ต้องอาศัยเทคโนโลยีของต่างชาติเป็นหลักในการดำเนินงานเกือบทุกด้าน รัฐขาดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร มีน้อย การไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ต้องอาศัยเทคโนโลยีของคนอื่น ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในทุกทุกด้าน

การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ
การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทั้ง 10 ด้านที่กล่าวมา นับเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
กระบวนการคุณภาพซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีเป้าหมายเชิงคุณภาพ โดยมีขั้นตอนมาตรฐานในการกระบวนการหลัก คือ Define Measure Analyze Improve และ Control หรือที่เรียกย่อว่า DMAIC ซึ่งในแต่ละขั้นตอน ได้อธิบายอย่างง่ายๆ พอสรุปได้ดังนี้ (เฮเลอร์ ,2006 : 23)
Define หมายถึง การกำหนดปัญหาที่เราต้องการแก้ไขคืออะไร
Measure หมายถึง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประเด็นที่เราสนใจเป็นปัญหา
Analyze หมายถึง ข้อมูลที่เรามีบอกไรให้แก่เราบ้าง
Improve หมายถึง มีทางเลือกอะไรบ้างในการจัดการกับสาเหตุรากเหงาของปัญหา
Control หมายถึง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทางแก้ไขปัญหาที่เราเลือกนำมาปฏิบัติ จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
หากได้ศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านต่างๆ ดูแล้วจะพบว่า กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ล้วนมีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านไว้แล้วทั้งสิ้น ทั้งในระดับประเทศ ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด จนถึงระดับท้องถิ่น แต่ปัญหาสำคัญคือ การนำนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง หรือว่าหากนำปฏิบัติแล้ว เกิดปัญหาจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร ซึ่งหากเรานำขั้นตอนกระบวนการคุณภาพซิกซ์ ซิกม่า มาวิเคราะห์เพื่อจัดการให้เกิดคุณภาพ อาจกระทำได้ ดังนี้

การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยใช้ กระบวนการ
คุณภาพซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma)

การร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่Define - กำหนดปัญหาที่แท้จริง ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านนั้นๆ
Measure - ต้องสามารถวัดระดับของปัญหานั้น ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
Analyze - นำข้อมูลทั้งหมดที่ก่อให้เกิดปัญหามาทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุรากเหงาของปัญหานั้น และค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหา
Improve - นำทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดมาจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์
Control - แปลงนโยบายและยุทธศาสตร์ให้ไปสู่การปฏิบัติ ติดตาม ควบคุมและวัดระดับของความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ใช้แล้ว
Define - กำหนดปัญหาที่แท้จริง ที่ไม่สามารถนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติได้ตามที่เขียนไว้Measure - ต้องสามารถวัดระดับของปัญหานั้น ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
Analyze - นำข้อมูลทั้งหมดที่ก่อให้เกิดปัญหามาทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุรากเหงาของปัญหานั้น และค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหา
Improve - นำทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไปปฏิบัติ
Control - ติดตาม ควบคุมและวัดระดับของความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ในการจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยใช้ กระบวนการคุณภาพซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) ในแต่ละขั้นตอนนั้น ยังมีรายละเอียดขั้นตอนย่อยอีกหลายประการ รวมทั้งเครื่องมืออีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ในจัดการคุณภาพได้ ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวให้ทราบในโอกาสต่อไป.


อ้างอิง
เฮเลอร์, โรวแลนด์. (2006). การจัดการกระบวนการตามหลัก Six Sigma. (ไพโรจน์ บาลัน. ผู้แปล) .
กรุงเทพฯ : อี.ไอ.สแควร์ พับลิซซิ่ง.

วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ลักษณะนโยบายสาธารณะที่ดีควรเป็นอย่างไร?

ความหมายของนโยบายสาธารณะ
ความหมายของคำว่า “นโยบายสาธารณะ” นั้น มีนักวิชาการหลายท่าน ได้ให้ความหมายที่แตกต่างกันไป อาทิ (อมรศักดิ์ กิจธนานันท์, บรรยาย )
Ira Sharkansky : กิจกรรมที่กระทำโดยรัฐบาลซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดของรัฐบาล
Thomas R.Dye : สิ่งที่รัฐบาลเลือกจะกระทำหรือไม่กระทำ ในส่วนที่รัฐบาลเลือกกระทำ จะครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดของรัฐบาล ทั้งกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบางโอกาส
James E. Anderson : แนวทางการปฏิบัติหรือการกระทำซึ่งมีองค์ประกอบหลายประการ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติหรือผู้กระทำที่จะต้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า สิ่งใดที่จะต้องกระทำให้สำเร็จ มิใช่สิ่งที่รัฐบาลเพียงแต่ตั้งใจกระทำหรือเสนอให้กระทำเท่านั้น โดยต้องจำแนกให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างนโยบายกับการตัดสินใจของรัฐบาล
David Easton : อำนาจในการจัดสรรคุณค่า (value) ทั้งมวลในสังคม โดยผู้มีอำนาจในการจัดสรร ก็คือ รัฐบาล ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำเป็นผลมาจากการจัดสรรคุณค่าในสังคม
ส่วน พีรธร บุณยรัตพันธ์ (บรรยาย) ให้ความหมายนโยบายสาธารณะ ว่าหมายถึง การที่รัฐใช้อำนาจตัดสินใจ เลือก หรือแสดงนัยที่จะกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของแนวทาง หรือเงื่อนไข ที่นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ภายในและภายนอกองค์กรของรัฐ และเพื่อบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ในการอยู่ร่วมกันเป็นรัฐ
สรุปได้ว่า นโยบายสาธารณะ เป็นกิจกรรมที่รัฐบาลตัดสินใจกระทำแก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์และความผาสุกของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ หรือเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาทั้งมวลของสังคมในด้านต่างๆ

องค์ประกอบของนโยบายสาธารณะองค์ประกอบนโยบายสาธารณะของแต่ละประเทศ มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป ด้วยเพราะสภาพทางด้านสังคม ภูมิศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม การนับถือศาสนา สิ่งแวดล้อม และบริบท แตกต่างกัน อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ (บรรยาย ) ได้สรุปองค์ประกอบนโยบายสาธารณะโดยรวมที่สำคัญ ไว้ 13 ประการ คือ
1.เป็นกิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ
2.เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรกิจกรรมเพื่อตอบสนองคุณค่าของสังคม
3.ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ได้แก่ ผู้นำทางการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ พรรคการเมือง สถาบันราชการ ข้าราชการ และประมุขของประเทศ
4.กิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำต้องเป็นชุดของการกระทำที่มีแบบแผน ระบบ และกระบวนการอย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่มีการสานต่ออย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
5. กิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำต้องมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์หรือ จุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจำนวนมาก
6.เป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำให้ปรากฏเป็นจริง มิใช่เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์หรือความตั้งใจที่จะกระทำด้วยคำพูดเท่านั้น
7.กิจกรรมที่เลือกกระทำต้องมีผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของสังคม ทั้งปัญหาความขัดแย้งหรือความร่วมมือของประชาชน
8.เป็นการตัดสินที่จะกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก มิใช่การตัดสินเพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคล และเป็นชุดของการตัดสินใจที่เป็นระบบมิใช่เป็นการตัดสินใจแบบเอกเทศ
9.เป็นการเลือกทางเลือกที่จะกระทำ โดยพิจารณาจากผลการวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
10. เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการต่อรองหรือประนีประนอมระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
11. เป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมทั้งกิจกรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ
12. กิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ อาจก่อให้เกิดผลทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคม
13. เป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย


สรุปได้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายสาธารณะ คือ ต้องเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลตัดสินใจกระทำ ต้องมีวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจน ต้องมีการวางแผนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนมาก และต้องถูกต้องตามกฎหมาย

ความสำคัญของนโยบายสาธารณะความสำคัญของนโยบายสาธารณะ อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ (บรรยาย) ได้กล่าวว่า นโยบายสาธารณะ มีความสำคัญต่อผู้กำหนดนโยบาย ต่อประชาชน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
ความสำคัญต่อผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาลที่สามารถกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และสามารถนำโยบายไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จะได้รับความเชื่อถือและความนิยมจากประชาชน ส่งผลให้รัฐบาลดังกล่าวมีโอกาสในการดำรงอำนาจในการบริหารประเทศยาวนานขึ้น
ความสำคัญต่อประชาชน นโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ดังนั้นประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความต้องการของพวกเขาผ่านกลไกทางการเมืองต่าง ๆ เช่น ระบบราชการ นักการเมือง ฯลฯ ความต้องการดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่ระบบการเมืองไปเป็นนโยบายสาธารณะ เมื่อมีการนำนโยบายไปปฏิบัติและได้ผลตามเป้าประสงค์ ก็จะทำให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในด้านการเป็นเครื่องมือบริหารประเทศ สามารถสรุปได้หลายประการ อาทิ
1.เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
2.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการตอบสนองความต้องการของประชาชน
3.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประชาชน
4.เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม
5.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม
6.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเสมอภาคในโอกาสแก่ประชาชน
7.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน
8.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท
9.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
10. เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สรุปได้ว่าความสำคัญของนโยบายสาธารณะ ก็คือ เครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนในประเทศมีความผาสุก และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมานฉันท์

ลักษณะนโยบายสาธารณะที่ดีควรเป็นอย่างไร?อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่า การบริหารประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน จำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะที่ดี และกระบวนการจัดการนโยบายต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ นโยบายที่ดี นโยบายที่ดีน่าจะเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมากที่สุด เป็นแนวทางในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ และประชาชนอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และยึดถือคุณธรรมในการดำเนินการ นโยบายที่ดีจะต้องเปิดกว้างให้ตอบรับและตอบสนองต่อความคิดและข้อเสนอแนะดีๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
อัจฉรา รักยุติธรรม (2548) ได้กล่าวถึง นโยบายสาธารณที่พึงปรารถนาว่า ควรมีการพัฒนาการมีส่วนร่วม ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ โดยตรง แต่ปัจจุบัน พวกเขามีสิทธิมีส่วนร่วมแค่รับฟังการชี้แจงโครงการ หรือให้ข้อมูลบางประการเท่านั้น แต่ไม่เคยที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าควรจะให้มีโครงการนั้นๆ เกิดขึ้นหรือไม่ นี่เองเป็นที่มาของการต่อต้าน คัดค้าน และประท้วงกันอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้า และโครงการพัฒนาอะไรต่อมิอะไร จนบางครั้งรุนแรงถึงกับมีการล้มเวทีประชาพิจารณ์ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ยอมรับว่านั่นคือ กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
จากความเห็นที่กล่าวมา ประกอบกับความเห็นของผู้เขียนเอง จึงคิดว่าลักษณะของนโยบายสาธารณะที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
1.ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศ
2.ไม่บั่นทอนความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ ไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม
3.กระบวนการจัดทำนโยบายต้องมีประสิทธิภาพ มีกระบวนการศึกษาปัญหาต่างๆ อย่างมีระบบ ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และหาหนทางการแก้ไขที่ดีที่สุด แล้วจึงนำมาออกเป็นนโยบาย
4.นโยบายสาธารณะที่ดี ควรจะเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานและองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
5.นโยบายสาธารณะนั้นทำให้ประชาชนในประเทศมีความผาสุก และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมานฉันท์ ไม่ก่อให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีของประชาชน
6.วัตถุประสงค์ของนโยบายสาธารณะนั้น ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก มิใช่การเพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

¯¯¯¯¯¯¯¯¯¯

อ้างอิง
พีรธร บุณยรัตพันธุ์ (ผู้บรรยาย). (2551). สไลด์ประกอบการบรรยายวิชานโยบายสาธารณะ.พิษณุโลก : สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
อนุสรณ์ ธรรมใจ. (2548, ธันวาคม 16). นโยบายสาธารณะเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า.กรุงเทพธุรกิจ.
อัจฉรา รักยุติธรรม. (2548, มิถุนายน 23). นโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนา.กรุงเทพธุรกิจ.
อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ (ผู้บรรยาย). (2551). สไลด์ประกอบการบรรยายวิชาแนวคิดและทฤษฎีกระบวนการนโยบายสาธารณะ. เพชรบุรี: คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี.