วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือแมวไทยสูญพันธ์ไปแล้ว 13 สายพันธ์ ในปัจจุบันคงเหลือเพียง 4 สายพันธ์ หากพวกเราไม่เริ่มที่จะอนุรักษ์ไว้ ไม่แน่ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะเหลือแมวไทยเพียงกี่สายพันธ์



วันที่ 30 ธันวาคม 2550 เกือบจะเย็นแล้ว หลังจากผมและครอบครัวกำลังเดินทางกลับจากตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ได้เห็นป้ายศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ ตอนเลยวัดบางแคใหญ่มานิดเดียว ผมและครอบครัวจึงตัดสินใจแวะเข้าไปเยี่ยมชมดู

ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ นี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดบางแคใหญ่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมี กำนันปรีชา พุคคะบุตร ในฐานะเป็นวิทยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเจ้าของดูแลอยู่ เมื่อผมแวะเข้าไปรู้สึกว่าศูนย์แห่งนี้กำลังเริ่มก่อสร้างอยู่ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงแลดูไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าใดนัก แต่พอได้พูดคุยกับท่านกำนันปรีชาฯ จึงทราบว่า ได้จัดตั้งมานานแล้ว โดยทางราชการเห็นว่าท่านกำนันปรีชาฯ เป็นคนรักแมว จึงขอร้องให้เปิดเป็นศูนย์อนุรักษ์ฯ โดยแรกเริ่มเดิมทีเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ” โดยการสนับสนุนของ กศน.อ.อัมพวา และ กศน.จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาทางผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสงคราม ขอให้ยกระดับจัดตั้งขึ้นเป็น “ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ” จนกระทั่งปัจจุบัน



ภายในบริเวณศูนย์ฯ สังเกตดูแล้วต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากอยู่ ปัจจุบันมีแมวที่แสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมยี่สิบกว่าตัว แต่ที่เห็นยังอยู่กรงอีกหลายตัว ที่ยังไม่สามารถนำออกมาแสดงได้ วางเรียงรายรวมกันอยู่ภายในเรือนไม้หลังบ้าน

ผมได้พูดคุยกับท่านกำนันปรีชาฯ ว่าทางราชการมาให้การสนับสนุนช่วยเหลืออะไรบ้าง กำนันปรีชาฯ ก็เงียบๆ ก่อนที่จะบอกว่าไม่เคยให้การสนับสนุนอะไรเลย ให้ผมจัดตั้งศูนย์ฯ มากระทำพิธีเปิดแล้วก็เงียบหายไป ผมใช้เงินส่วนตัวในการสร้างศูนย์ และปัจจุบันภาระที่สำคัญก็คือ ค่าอาหารแมว และคนดูแลแมว เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้ ไม่มีเงินสนับสนุน ไม่เก็บเงินค่าเข้าชม เงินที่ได้ก็คือ เงินที่ผู้เข้าชมบริจาค ซึ่งพูดได้ว่าไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงศูนย์แห่งนี้ฯ ให้ดำรงคงอยู่อย่างถาวรได้แน่นอน อนาคตก็ไม่รู้ว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นอย่างไร

ผมจึงเริ่มเข้าใจแล้วว่า เหตุที่ศูนย์ฯ ดูเหมือนกับกำลังสร้างอยู่ยังดำเนินไม่เสร็จ ก็เพราะเหตุที่ไม่มีเงินมาสนับสนุนนี้เอง กำนันปรีชาบอกต่ออีกว่า ตอนนี้กำลังจะจัดตั้งเป็น สมาคมอนุรักษ์แมวไทย(แห่งประเทศไทย) ซึ่งมีอยู่กันหลายสาขาทั่วประเทศไทยก็ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ ประชุมกันมาหลายครั้งแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า

น่าสงสาร ระบบราชการของประเทศไทย สิ่งที่ควรสนับสนุนกลับไม่ทำ ที่ทำมักทำแบบฉาบฉวย ไม่ถาวรจริงจัง ทำเพื่อเอาผลงาน...พอย้ายไปคนใหม่ก็ไม่สานต่อ...

กำนันปรีชา บอกว่า จากหลักฐาน แมวไทยมีด้วยกัน 23 ชนิด เป็นแมวให้โทษ 6 ชนิด คือ ทุพพลเพศ พรรณพยัคฆ์ (หรือลายเสือ) ปีศาจ หินโทษ กอบเพลิง เหน็บเสนียด ส่วนแมวให้คุณหรือแมวมงคล มีอยู่ 17 ชนิด คือ นิลจักณ แซมเสวตร รัตนกำพล มุสิลา กรอบแว่น ปัคเสวต การเวก จตุบท โสหเสพย กระจอก โกญจา เก้าแต้ม นิลรัตน์ วิเชียรมาศ สีสวาด ศุภลักษณ์ วิลาศ

ปัจจุบันแมวให้คุณ สูญพันธ์ไปแล้ว 13 ชนิด คงเหลือให้คนในรุ่นปัจจุบันชื่นชมเพียง 4 ชนิด คือ แมววิเชียรมาศ แมวสีสวาดหรือแมวโคราช แมวศุภลักษณ์ แมวโกญจาหรือแมวดำปลอด ส่วนแมวที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ใน 17 ชนิด อีกพันธ์หนึ่งก็คือ แมวขาวปลอดหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแมวขาวมณี


นี่เป็นเพียงความรู้เรื่องแมวเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ที่ผมนำมาฝาก หากท่านผู้อ่านต้องการทราบเรื่องราวโดยละเอียดก็สามารถขับรถไปชมได้ตลอดเวลา สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แมวไทยสูญพันธ์ไปแล้ว 13 สายพันธ์ ในปัจจุบันคงเหลือเพียง 4 สายพันธ์ หากพวกเราไม่เริ่มที่จะอนุรักษ์ไว้ ไม่แน่ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะเหลือแมวไทยเพียงกี่สายพันธ์

รายละเอียด : กำนันปรีชา พุคคะบุตร ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โทร. 034-733-284

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำไมต้องขังไว้ในกรงด้วยน่าสงสารออก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พึ่งไปมาครับ ขออนุญาตตอบแทนลุงปรีชาที่ต้องขังกรงเพราะบางตัวเป็นแมวที่เค้าฝากมาผสมพันธุ์ และถ้าเคยเลี้ยงแมวจะรู้ว่าช่วงแมวติดสัตว์มันชอบหายนะครับ แมวไทยแท้ๆ สายพันธุ์ถูกลักษณะเมืองนอกเค้าขอซื้อเป็นแสนนะ ใครไปเที่ยวสมุทรสงครามเชิญแวะครับ เป็นทางผ่านไปค่ายบางกุ้ง